พอนั่งคิดทบทวนเรื่องอาหารการกินในนิวซีแลนด์ ผมค้นพบว่ามีประสบการณ์ต่างเวลาและสถานที่หลายอย่าง บางเรื่องก็เป็นความทรงจำที่หอมกรุ่น อร่อยลิ้นและอิ่มท้อง (เช่น การกินอาหารกับดอนและออเดรย์ที่เล่าในตอนที่แล้ว[1]) บางเรื่องดูตลกและประหลาด (การแย่งกันอ้างการเป็นต้นตำรับที่แท้จริงของพัฟโลวาระหว่างคนคีวีและออสซี่) หรือเรื่องอาหารหลักของคนนิวซีแลนด์ เช่น เนื้อแกะและพายเนื้อ
ทำให้ผมเริ่มสงสัยว่าอาจเป็นเพราะความคุ้นเคย อคติ หรือความไม่ใส่ใจ ไม่ตั้งข้อสังเกตก็ได้ ผมจึงคิดว่าอาหารนิวซีแลนด์ในสมัยนั้นซ้ำๆ ซากๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ไม่หลากหลาย แต่เมื่อกลับไปพิจารณาถึงอาหารต่างๆ ที่ผมเคยเจอหรือมีโอกาสได้กินก็ต้องเปลี่ยนความคิด ผมกลับรู้สึกว่าคนนิวซีแลนด์มีประสบการณ์กับอาหารจานใหม่ๆ เริ่มรู้จักอาหารของคนต่างชาติต่างภาษามากขึ้น เรียนรู้ที่จะกิน ที่จะชื่นชมกับรสชาติอาหารที่แตกต่างจากอาหารที่ตัวเองคุ้นเคย และแน่นอน อาหารต่างวัฒนธรรมเหล่านี้เดินทางเข้าไปสู่การรับรู้ของคนคีวีผ่านผู้อพยพหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าไปอาศัยอยู่ในประเทศ
เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ของผมกับอาหารของผู้อพยพเพียง 2-3 กลุ่มเท่านั้น เมื่อมีโอกาสได้กลับไปนิวซีแลนด์อีกครั้งใน ค.ศ. 2003 ผมค้นพบว่ามีอาหารต่างชาติเพิ่มขึ้นมากมายทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่อย่างออคแลนด์ เมืองใหญ่ที่มีผู้อพยพหน้าใหม่เข้าไปอยู่
ฟิชแอนด์ชิปส์ที่อร่อยที่สุด?
ผมเดาว่าคนจำนวนมากอาจคิดว่า ‘ฟิชแอนด์ชิปส์’ (fish and chips) เป็นอาหารของคนอังกฤษ แต่จากประสบการณ์ที่ใช้ชีวิตในนิวซีแลนด์นานกว่า 6 ปี ดูจะมีคนคีวีมากมายทีเดียวที่ชอบกินเช่นกัน จนอาจเรียกว่าเป็นอาหารยอดนิยมจานหนึ่งของคนที่นั่น และมักปรากฏในเมนูของร้านอาหารส่วนใหญ่ ทั้งประเภท ‘takeaway’ (ห่อกลับบ้าน – หากพูดแบบชาวบ้านไทย) และมีบริการโต๊ะเก้าอี้ให้ลูกค้านั่งกิน รวมถึงร้านอาหารจีนทั้งหลายที่เป็นหนึ่งในเมนูที่มีลูกค้าสั่งบ่อย (จากการสังเกตอย่างไร้ความเป็นวิทยาศาสตร์ของผมเอง)
ฟิชแอนด์ชิปส์เป็นอาหารจานด่วน 1 ใน 2 ชนิด (อีกชนิดหนึ่งคือพายเนื้อ ซึ่งเคยเล่าไปแล้ว) ที่ผมกินบ่อยเพราะสะดวก หาง่าย กินก็ง่าย อิ่มท้อง และราคาไม่แพง (เป็นเหตุผลที่ผมสันนิษฐานว่าทำให้คนคีวีทั่วไปชอบกิน) ตอนที่กินครั้งแรกๆ ผมรู้สึกเลี่ยนและมัน จนกระทั่งค้นพบว่าถ้าเหยาะ ‘malt vinegar’ น้ำส้มสายชูที่ทำจากการหมักบาร์เลย์ สีออกน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ลงบนกับฟิชแอนด์ชิปส์สักหลายหยดจะช่วยให้รสชาติดีขึ้น ออกเปรี้ยวอมหวาน แก้เลี่ยนได้ แต่ร้านอาหารทั่วไป โดยเฉพาะร้านจีน มักมีแต่น้ำส้มสายชูธรรมดาที่มีรสเปรี้ยวอย่างเดียว กลิ่นก็เปรี้ยวด้วย และหากท่านผู้อ่านคนใดคิดถึงเลม่อน ผมก็อยากบอกว่าร้านอาหารทั่วไปไม่มีเลม่อนให้ลูกค้า เพราะราคาแพงกว่าน้ำส้มสายชู
ความที่ผมเป็นคนชอบเที่ยว จึงมักมีคำแนะนำของมิตรสหายหรือคนรู้จักให้ไปเที่ยวในสถานที่บางแห่ง กินอาหารบางชนิดที่ขึ้นชื่อของที่นั่น หรือทำกิจกรรมบางอย่าง (ถ้ามีโอกาส ผมจะเขียนเล่าการผจญภัยแบบ ‘โบกรถ’ [hitch hiking] ของผมในนิวซีแลนด์) และด้วยเหตุที่ฟิชแอนด์ชิปส์เป็นอาหารยอดนิยม จึงมักมีการโอ้อวด อ้างความเป็นเลิศของอาหารจานนี้ ดังนั้น หนึ่งในคำแนะนำของมิตรสหายคือต้องไปกินฟิชแอนด์ชิปส์ที่เมืองอะคาโรอา
อะคาโรอา (Akaroa) เป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนปลายสุดของแบงค์สเพนนินซูลา (Banks Peninsula) ที่เป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล ห่างจากเมืองไครสต์เชิร์ชราว 80 กิโลเมตรเศษ เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและตากอากาศ เพราะในราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พบว่ามีโลมาประเภทที่เรียกว่า ‘Hector’s dolphin’ ว่ายเข้ามาในอ่าว จึงกลายเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ต้องการชมโลมาชนิดนี้ ทำให้โรงแรมหรือที่พัก ร้านอาหาร และกิจการอื่นๆ ผุดขึ้นเป็นเงาตามตัวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
แม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่เกี่ยวข้องกับคนเมารีตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 และกับคนอังกฤษในเวลาต่อมา ทว่า อะคาโรอากลับเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในฐานะที่เป็นถิ่นฐานของคนฝรั่งเศสแห่งเดียวในนิวซีแลนด์ มีบันทึกว่าใน ค.ศ. 1838 ชายฝรั่งเศสนาม ฌอง ฟรองซัวส์ ลองกลัวส์ (Jean François Langlois) กัปตันเรือล่าวาฬ ได้เข้าติดต่อกับหัวหน้าเผ่าเมารีเพื่อขอซื้อที่ดินจำนวนหนึ่งในบริเวณที่ปัจจุบันคือเมืองอะคาโรอา ซึ่งฝ่ายเมารีก็ยินยอม[2] หลังจากนั้นเขาก็เดินทางกลับไปประเทศฝรั่งเศส เจรจาชักชวนบริษัท นานโต-บอร์เดเลส (Nanto-Bordelaise Company) ให้ลงทุนซื้อที่ดินที่เขาได้ติดต่อไว้ และทำให้เขากลายเป็นหุ้นส่วนของบริษัทฯ ด้วย บริษัทฯ โฆษณาให้คนฝรั่งเศสอพยพไปตั้งหลักแหล่งในอะคาโรอา มีผู้สนใจที่จะอพยพจำนวนไม่น้อย แต่เมื่อคนเหล่านี้เดินทางถึงนิวซีแลนด์ก็พบว่าบ้านในฝันหลังใหม่ได้กลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเห็นว่าผู้อพยพฝรั่งเศสเดินทางมานิวซีแลนด์เพราะเข้าใจว่าพวกตนได้เป็นเจ้าของที่ดิน ฝ่ายอังกฤษจึงยอมทำข้อตกลงกับบริษัท นานโต-บอร์เดเลส โดยมอบที่ดินให้คนฝรั่งเศสสร้างชุมชนใหม่ขึ้น แลกเปลี่ยนกับเงินก้อนหนึ่งที่บริษัทฯ จ่ายให้
ว่ากันว่านอกจากอะคาโรอาจะเป็นชุมชนแห่งเดียวในประเทศที่ได้รับอิทธิพลของฝรั่งเศส ยังเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในแถบแคนเทอร์เบอรี และเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของนิวซีแลนด์ด้วย จึงทำให้ผมอยากไปเที่ยว ตระเวนดูสภาพที่แท้จริงของเมืองนี้ ที่หากดูจากภายนอกอย่างผิวเผินก็คงไม่แตกต่างจากเมืองเล็กๆ อีกหลายแห่งที่บ้านเรือนทำด้วยไม้หลังย่อม ล้อมรอบด้วยสวนเล็กๆ แบบที่เรียกว่า ‘cottage’ ดูกระจุ๋มกระจิ๋ม น่ารักน่าอยู่ แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเมืองนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดูได้จากป้ายสถานที่หลายแห่ง ถนนหลายสาย ที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ทำให้ผมรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ในชุมชนฝรั่งเศส
ระหว่างที่เดินโต๋เต๋ดูเมือง ผมก็ไม่ลืมเรื่องที่มีคนแนะนำให้ลองอาหารยอดนิยม จึงถามคนในเมืองว่าร้านไหนมีฟิชแอนด์ชิปส์อร่อย พอไปถึงร้านปรากฏว่ามีลูกค้ารออยู่พอสมควร แต่รอไม่นานนักก็ได้ฟิชแอนด์ชิปส์ร้อนๆ ที่คนขายบอกให้เหยาะน้ำส้มสายชูสีน้ำตาลไหม้ที่ทำจากมอลต์ด้วย ช่วยเพิ่มรสชาติให้ดีขึ้น
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า ฟิชแอนด์ชิปส์ที่กินวันนั้นอร่อยจริงๆ หรือเพราะกำลังหิวโซ จึงรู้สึกอร่อย?
ใครๆ ก็แวะร้านอาหารจีน
หากใครถามว่าอาหารอะไรขายดีที่สุดในเมืองดันนิดิน ผมตอบทันทีเลยว่าอาหารจีน แค่เห็นลูกค้าที่เป็นนักศึกษายืนเข้าคิวจนล้นออกมานอกร้านก็สามารถทำให้ร้านอาหารประเภทอื่น ‘ตาร้อน’ จนคิ้วไหม้ไฟไม่เหลือหลอ!
สมัยที่ผมอยู่ที่นั่น มีร้านอาหารจีนหลายแห่ง ร้านในเมืองหรือใกล้มหาวิทยาลัยมักเป็นร้านเล็กๆ แบบ takeaway หรือมีโต๊ะให้นั่งกินได้ไม่กี่ตัว ส่วนร้านใหญ่ๆ อยู่แถว South Dunedin ถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีบ้านราคาไม่แพงนัก จึงเป็นย่านที่มีบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก ร้านที่ผมซื้อกินบ่อยอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ขายดีมาก เพราะราคาไม่แพง ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนวันศุกร์และเสาร์ หลังจากที่ผับปิดแล้ว หนุ่มสาวผู้เมามายและหิวโซทั้งหลายจะทยอยกันออกจากผับชื่อดังของเมือง เดินไปซื้ออาหารกินที่ร้านนี้เพราะอยู่ใกล้กัน) มีอาหารจีนหลายอย่างบนเมนู แต่ที่ดูขายดีกว่าจานอื่นๆ คือข้าวผัด บะหมี่ผัด ‘sweet and sour pork’ หรือหมูเปรี้ยวหวานแบบกวางตุ้ง และแน่นอน ฟิชแอนด์ชิปส์ในราคาเพียง 1.99 ดอลลาร์ ได้ปลาทอด 2 ชิ้น และมันฝรั่งทอด
เหตุผลที่พ่อครัว/เจ้าของร้านเปิดร้านอาหารในดันนิดิน ไม่ใช่เพียงเพื่อความสำเร็จทางธุรกิจหรือความร่ำรวยเท่านั้น หากยังมีเรื่องครอบครัวด้วย เพราะแกต้องการให้ลูก 2 คนที่ยังเล็กอยู่ในที่ที่มีความปลอดภัย ได้รับการศึกษาที่ดี และมีอนาคตที่ดี จึงตัดสินใจย้ายมาอยู่ในนิวซีแลนด์
แกและภรรยาเป็นคนฮ่องกง ผมเจอทั้งสองที่โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษแก่ผู้อพยพต่างชาติ ที่เพื่อนคีวีของผมเป็นครูสอนภาษาอยู่ แต่พอร้านอาหารขายดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสองก็ต้องเลิกเรียนเพราะไม่มีเวลา แกเล่าว่าเริ่มทำงานในครัวตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น แรกๆ ก็เป็นลูกมือทำงานสารพัด ค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นจนได้เป็นพ่อครัว แต่อาชีพพ่อครัวเป็นงานหนัก และแกไม่อยากเป็นลูกจ้างตลอดไป จึงอดออมเก็บเงินจนพอที่จะเปิดกิจการของตนเอง แต่ที่ฮ่องกงการแข่งขันสูง จึงตัดสินใจไปเสี่ยงโชคที่อื่น พอดีมีคนชวนแกมาเป็นพ่อครัวที่นิวซีแลนด์ ทำงานให้เขาอยู่ระยะหนึ่งก็ลาออกมาเช่าที่ทำร้านอาหารที่เปิดขายอยู่นี้
พ่อครัวเป็นคนขยันมาก อัธยาศัยดี หน้าตายิ้มแย้มเสมอ เวลาที่ผมเบื่อทำอาหารกินเอง ก็ไปซื้อฟิชแอนด์ชิปส์หรือข้าวผัดที่ร้านแก ปกติแกจะอยู่ในครัว ภรรยาเป็นคนรับออร์เดอร์ เสิร์ฟอาหาร หรือห่ออาหารให้ลูกค้าที่สั่ง takeaway และเก็บเงิน แต่ถ้าแกเห็นผมก็จะออกมาทักทายและตักอาหารให้ผมมากกว่าปกติ เช่น ให้ชิปส์ห่อใหญ่มากจนบางครั้งกินไม่หมด หรือตักข้าวผัดให้จนแน่นกล่อง
ผมลองค้นดูในอินเทอร์เน็ตพบว่า ตอนนี้มีร้านอาหาร/ภัตตาคารจีนในดันนิดินไม่น้อยกว่า 20 แห่ง มีร้านใหม่ๆ ผุดขึ้นหลายแห่ง แต่ไม่เจอร้านของแกที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย ไม่แน่ใจว่าแกย้ายไปอยู่ที่อื่นหรืออาจเลิกทำไปแล้วเพราะอายุมาก แต่ที่ค่อนข้างแน่ใจคือ แกน่าจะเป็นรุ่นผู้บุกเบิกร้านอาหารจีนในเมือง และเป็นคนที่ทำให้คนคีวี อย่างน้อยก็พวกหนุ่มสาวและนักศึกษา รู้จักกินและชื่นชมอาหารจีนกวางตุ้ง
ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า
ร้านอาหารจีนในสมัยนั้นส่วนใหญ่เป็นอาหารกวางตุ้ง ยกเว้นร้านของลูกสาวอาเจ็กที่ขายก๋วยเตี๋ยวราดหน้าแต้จิ๋ว
ผมจำชื่อจริงของอาเจ็กไม่ได้ เจอแกครั้งแรกที่โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษแก่ผู้อพยพต่างชาติ (สถานที่ที่ผมได้พบปะและรู้จักคนต่างชาติหลายคน) ผมก็เรียกแกว่า ‘อาเจ็ก’ (‘เจ็ก’ ที่หมายถึงอา น้องชายของพ่อ ในภาษาแต้จิ๋ว) ด้วยความเคยชินและเพราะรู้ว่าแกเป็นคนจีนแต้จิ๋วจากกัมพูชา ตอนนั้นแกน่าจะอายุ 40 ปลาย หรือ 50 ต้นๆ แล้ว แกและครอบครัวหนีภัยสงครามอินโดจีนในช่วงปลายทศวรรษ 1970 เข้าไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ชายแดนไทย-กัมพูชานานหลายปี ก่อนที่รัฐบาลนิวซีแลนด์จะยอมรับและอนุญาตให้อพยพเข้าประเทศในฐานะผู้ลี้ภัย และมาตั้งรกรากในเมืองดันนิดิน แกพูดภาษาไทยได้บ้าง แต่พอรู้ว่าผมพูดภาษาแต้จิ๋วได้ แกก็ใช้แต้จิ๋วตลอด หลังจากนั้นทุกครั้งที่ผมแวะไปที่โรงเรียน อาเจ็กจะถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ชวนคุยสารพัดเรื่อง อาจเพราะว่าแกพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้จึงไม่อยากสนทนากับคนอื่นนัก แต่คุยกับผมได้มากกว่า รู้สึกเป็นกันเอง ไม่นานนักแกก็เชิญชวนผมไปเที่ยวบ้านแก ชวนกินข้าวด้วย อาเจ็กและลูกสาวเป็นคนเอื้ออารี มีน้ำใจต่อผมมากผมจนรู้สึกเกรงใจ
ครอบครัวนี้ทำงานหนักมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกสาวของแก ซึ่งแต่งงานมีลูกเล็กๆ แล้ว ถ้าจำไม่ผิดแกมีลูกสาว 2 คน ขยันและกระตือรือร้นมาก ผมรู้จักแกได้ราวปีสองปีก็ได้ข่าวว่าลูกสาวเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว ดีใจกันมากทั้งพ่อและลูกสาว อุตส่าห์ชวนผมไปที่ร้านซึ่งตั้งอยู่ตรงมุมถนนสายหลักของเมือง ไม่ไกลนักจากมหาวิทยาลัย ช่วงแรกๆ ที่เปิดเป็นร้านค้าคูหาเดียว ขายก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ราดหน้าหมูแบบที่คนไทยคุ้นเคย แต่ผักที่ใช้เป็นบร็อคโคลี ไม่ใช่คะน้า อาหารจานนี้เป็นเมนูหลัก
ปรากฏว่าขายดีมาก เพราะไม่มีร้านอาหารจีนร้านใดที่ขายก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ราดหน้า และเป็นแห่งเดียวในเมือง หลังจากนั้นไม่นานก็มี ‘เส้น’ ชนิดอื่นและบะหมี่สีเหลืองเพิ่มขึ้นในเมนูของร้าน ตามมาด้วยอาหารจานอื่นๆ พร้อมกับการเติบโตของกิจการที่เห็นได้จากร้านที่ขยายใหญ่ขึ้น กลายเป็นร้าน 2-3 คูหา และโต๊ะเก้าอี้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับลูกค้าที่มากขึ้น ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าของร้านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นใหญ่ อร่อยมาก รสชาติไม่แตกต่างจากราดหน้าที่เคยกินในเมืองไทย แม้ว่าจะใช้ผักบร็อคโคลีก็ตาม
สำหรับผม ความน่าทึ่งของร้านลูกสาวอาเจ็ก ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่ง คือการเป็น ‘เจ้าแรก’ ที่ขายและแนะนำให้คนคีวีได้กินและรู้จักรสชาติของก๋วยเตี๋ยวราดหน้าแบบแต้จิ๋วที่คนไทยและเขมรรู้จัก
ทุกวันนี้หากลองค้นดูในอินเทอร์เน็ตจะพบร้านอาหารชื่อ ‘Sampan House’ ในเมืองดันนิดิน ป้ายหน้าร้านระบุว่าจำหน่ายอาหารเขมรและจีน ส่วนในเมนูก็มีรายชื่ออาหารหลายรายการ ที่น่าสนใจคือจานที่เรียกว่า ‘Satay’ ที่น่าจะเป็น ‘สะเต๊ะ’ มีให้เลือกทั้งเนื้อไก่และวัว พร้อมน้ำจิ้มที่มีส่วนประกอบของถั่วลิสงบด มีก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ก๋วยเตี๋ยวน้ำแบบแต้จิ๋ว บะหมี่ผัด และอาหารจานอื่นๆ ที่ดูน่ากิน
ผมไม่ทราบว่าเป็นร้านเดียวกับร้านของลูกสาวอาเจ็กหรือไม่ หากมีโอกาสได้กลับไปเที่ยวดันนิดินอีกครั้ง ผมต้องแวะไปอุดหนุนร้านนี้แน่นอน อยากลองดูว่ารสชาติอาหารจะเป็นอย่างไร
ถ้าโชคดีเจอว่าเป็นร้านเดียวกันจะได้รำลึกความหลังไปด้วย และหวังว่าอาเจ็กยังมีชีวิตอยู่
เนื้อกระต่ายราดซอส
หลายปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในนิวซีแลนด์ ผมได้กินอาหารสารพัดชนิด ประเภทที่ต้องไปเก็บวัตถุดิบหรือหามาจากธรรมชาติก็มีหลายครั้ง (โอกาสหน้าจะเล่าให้ฟัง) แต่มีอาหารจานหนึ่งที่ผมได้กินเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ดันนิดิน แล้วก็ไม่ได้กินอีกเลย จานนั้นคือ ‘กระต่ายซอสไวน์ขาว’
ก่อนที่จะได้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ผมต้องเรียนรายวิชาที่เป็นวิชาบังคับ 4 วิชาในปีแรก และต้องสอบให้ได้คะแนนตามที่มหาวิทยาลัยตั้งเกณฑ์ไว้ทั้ง 4 วิชา จึงจะได้เข้าโปรแกรม ป.โท (ตลอดทั้งปีซึ่งมี 3 เทอม ผมเรียนแค่ 4 วิชา เรียนจบแต่ละเทอมก็เขียนรายงานส่งทั้ง 4 วิชา เขียนรายงานส่งอาจารย์จนมือหงิก เพราะสมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ แล้วค่อยไปสอบครั้งใหญ่ปลายปี ราวเดือน พ.ย.-ธ.ค. เป็นการเรียนแบบลงลึกและละเอียดทั้ง 4 วิชา ไม่ได้เรียนมากมายสารพัดวิชาแบบบ้านเรา) แน่นอน ก่อนสอบผมก็เครียด กลัวสอบไม่ผ่าน เตรียมตัวสอบอย่างหนัก พอรู้ผลว่าสอบผ่านทั้ง 4 วิชา และได้เรียนต่อ ก็ดีใจจนหน้าบาน แต่ไม่ได้มีผมคนเดียวเท่านั้นที่สอบผ่าน เพื่อนคีวีและคนต่างชาติอีก 3-4 คนก็สอบผ่าน พวกเราจึงอยู่ในอารมณ์ของการเฉลิมฉลองความสำเร็จ ตกลงกันว่าจะฉลองด้วยอะไร เพื่อนคนหนึ่งเสนอว่าให้ไปกินอาหารฝรั่งเศส เป็นข้อเสนอที่ประหลาด แต่เพราะไม่มีใครเคยกินอาหารที่ว่านี้เลย จึงเห็นดีเห็นงามกันทุกคน ทั้งๆ ที่ร้านอาหารนี้อยู่ในเมือง ไกลจากมหาวิทยาลัยมากทีเดียว
เป็นช่วงสอบปลายปี นักศึกษาที่เรียนจบจึงนัดเลี้ยงฉลองกัน ทำให้ร้านอาหารส่วนใหญ่เต็ม ดีว่าเพื่อนคีวีโทรไปจองโต๊ะไว้ก่อน พวกเรา 5-6 คนน่าจะเป็นลูกค้ากลุ่มแรกๆ ตอนไปถึงร้านยังไม่ค่อยมีลูกค้า แต่พอกินเสร็จกำลังจะออกจากร้านก็มีลูกค้าทยอยเข้ามาจนเกือบเต็ม เป็นครั้งแรกของผมที่เข้าร้านอาหารฝรั่งเศส ไม่รู้จักชื่ออาหารบนเมนูที่มีทั้งภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ จึงไม่รู้ว่าจะกินอะไร บริกรหนุ่มที่หน้าตาท่าทางน่าจะเป็นนักศึกษาที่มาทำงานหารายได้พิเศษ จึงแนะนำให้ผมลอง (ถ้าความทรงจำของผมไม่บกพร่อง) ‘เนื้อกระต่ายซอสไวน์ขาว’ ที่แกอธิบายว่าต้องค่อยๆ ทำจนซอสที่ทำจากไวน์ขาวและเครื่องปรุงอื่นๆ เข้าเนื้อ ซึ่งก็อาจใช้เวลาในการทำนานหน่อยถ้าผมทนหิวรอได้
“โอเค กระต่ายก็กระต่าย” – ผมนึกในใจ ไม่เคยกินก็ลองดูสักครั้ง
เป็นจริงตามที่บริกรหนุ่มบอกผมไว้ คือต้องรอนานทีเดียว พอเขามาเสิร์ฟผมก็เห็นเนื้อสีขาวไร้หนังไร้มัน ราดด้วยซอสสีครีม ความที่ไม่เคยกิน ผมก็กังวลว่าเนื้อกระต่ายจะมีกลิ่นสาบ แต่ก็ไม่มี รสชาติดีทีเดียวทั้งเนื้อและซอส เนื้อนุ่มอร่อย นึกดีใจที่ลองจานนี้ตามคำแนะนำของหนุ่มบริกร
ตอนที่พวกเราสั่งอาหารกัน บริกรแนะนำไวน์ฝรั่งเศสทั้งแดงและขาว ว่าชนิดใดเหมาะกับอาหารจานใด แต่พอบอกราคาไวน์ พรรคพวกร่วมโต๊ะก็ส่ายหน้า พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเก็บเงินไปซื้อเบียร์ดื่มหลังอาหารดีกว่า มื้อนั้นจึงเป็นการกินอาหารฝรั่งเศสแกล้มน้ำเปล่า
หลังมื้ออาหาร พวกเราเดินไปดื่มเบียร์กันในผับ ซึ่งแน่นขนัดด้วยนักศึกษา แต่เป็นคืนที่ผมสนุกมาก รู้สึกโล่งใจที่สอบผ่าน ดีใจที่จะได้เรียนต่อ เพื่อนที่ไปด้วยกันก็เฮฮามีความสุขเช่นกัน
ผมไม่ได้กลับไปกินอาหารที่ร้านฝรั่งเศสอีกเลย และไม่เคยได้กินอาหารฝรั่งเศสที่ไหนอีก ระหว่างที่กำลังเขียนเล่าเรื่องนี้ก็ลองเข้าไปสืบค้นในเน็ตว่า ร้านอาหารแห่งนี้ยังขายอยู่หรือไม่ในดันนิดิน ผมเจอชื่อร้าน แต่มีการแจ้งว่าปิดกิจการไปหลายปีแล้ว
มื้อเที่ยงในกรุง
หลังจากที่เรียน ป.โท จบ ผมได้งานทำเป็นนักวิจัยอยู่ในเวลลิงตัน เมืองหลวงของประเทศ เกือบ 2 ปีที่อยู่ที่นั่น ผมเช่าบ้านอยู่นอกเมือง เดินทางเข้าออกเมืองทุกวันเพื่อไปทำงานด้วยรถโดยสารสายชานเมือง ปกติผมเอาอาหารที่เหลือจากมื้อเย็นของคืนก่อนไปกินตอนกลางวัน หรือไม่ก็ห่อแซนด์วิชไปด้วย ซ้ำซากเช่นนี้สักระยะหนึ่งก็เริ่มเบื่ออาหารที่เตรียมไปจากบ้าน จึงลองไปสำรวจว่าเขาขายและกินอะไรกันตอนเที่ยง
คนนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่มีครอบครัวลูกเต้า ค่อนข้างประหยัด จึงมักห่อแซนด์วิชไปกินที่ทำงาน แต่จำนวนไม่น้อยก็ซื้อแซนด์วิช ที่มีให้เลือกไม่ว่าจะเป็นประเภทของขนมปัง หรือไส้แซนด์วิชสารพันชนิด ทั้งเนื้อและผัก และอาจเลือกแซนด์วิชธรรมดาหรือแบบร้อนที่ปิ้งจนชีสละลายไหลเยิ้มออกมา (กินขณะที่ยังร้อนๆ จะรู้สึกว่าอร่อยทีเดียว) ก็ได้
ผมอยากเดาว่าแซนด์วิชและพายเนื้อร้อนๆ เป็นอาหารกลางวันที่ขายดี แต่แน่นอน takeaway จากร้านอาหารจีนน่าจะ ‘ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า’ เหมือนสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “sell like hot cakes.”
ถ้าผมรู้สึกหิวมากก็จะซื้อข้าวผัดหรือฟิชแอนด์ชิปส์กิน แต่มีหลายครั้งที่ซื้อเคบับ แบบที่เรียกว่า ‘kebab wrap’ แผ่นแป้งห่อไส้ที่ทำจากเนื้อแกะหรือไก่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมผัก 2-3 ชนิด ชายวัยกลางคนหน้าเข้มที่ยืนขายบนแผงเล็กๆ ริมถนนบอกผมว่าเป็นเคบับเลบานิส ซึ่งเป็นอาหารที่ผมชอบทีเดียว
อันที่จริง เวลลิงตันมีอาหารให้เลือกหลายประเภท และมีร้านอาหารต่างวัฒนธรรมที่เรียกว่า ‘ethnic food’ ไม่น้อย แต่ช่วงที่ทำงานและอาศัยอยู่ที่นั่น ผมไปกินในร้านอาหารไม่บ่อยนัก เพราะรถโดยสารสายชานเมืองที่นั่งกลับบ้านเลิกวิ่งตั้งแต่หัวค่ำ ถ้าตกรถเที่ยวสุดท้ายก็ต้องโทรศัพท์เรียกแท็กซี่กลับ วุ่นวายพอสมควร ผมจึงกลับบ้านเร็ว เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ บ่อยครั้งที่ผมและเพื่อนร่วมงานไปดื่มเบียร์กันที่ผับหลังเลิกงาน แล้วกินอะไรง่ายๆ ซึ่งปกติก็คือฟิชแอนด์ชิปส์ อาหารยอดนิยมของคนในผับ
กิมจิและซูชิ
ปี 2003 เป็นครั้งสุดท้ายที่ผมได้ไปเยือนนิวซีแลนด์ เพราะต้องไปร่วมการประชุมทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยออคแลนด์ และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ออคแลนด์เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีประชากรมากที่สุด มากกว่า 1 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดราว 5 ล้านคน – มีคนอพยพหน้าใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนไม่น้อย ที่สะดุดตาที่สุดคือ วัยรุ่นและหนุ่มสาวเอเชีย ผมเดาว่าน่าจะเป็นคนเกาหลีหรือญี่ปุ่น เพราะบุคลิก/ท่าทางไม่เหมือนหนุ่มสาวคีวีเชื้อสายจีน อีกทั้งมีร้านอาหารเกาหลีและญี่ปุ่นผุดขึ้นใหม่หลายแห่งในย่านใจกลางเมือง และอาจเป็นไปได้ว่าวัยรุ่น/หนุ่มสาวเหล่านี้มาเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยออคแลนด์ โปรแกรมญี่ปุ่นศึกษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกาหลีศึกษา กำลังเติบโตขยายตัว ถึงขนาดจ้างคนเกาหลีมาเป็นอาจารย์
ผมไม่มีโอกาสได้กินอาหารเกาหลีหรือญี่ปุ่น แต่ค้นพบว่าราคาอาหารแพงขึ้นอย่างมาก บางอย่างแพงขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับราคาสินค้า 8-9 ปีก่อนหน้านั้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่าค่าครองชีพในนิวซีแลนด์พุ่งขึ้นสูงในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
ที่อาจน่าตกใจกว่าราคาอาหารและสินค้าต่างๆ คือราคาบ้าน เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว เพื่อนคีวีคนหนึ่งบอกผมว่าราคาบ้านในออคแลนด์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 500,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ ทุกวันนี้ถ้าท่านผู้อ่านลองเข้าไปค้นดูในอินเทอร์เน็ตจะพบว่าบ้านที่มี 2 ห้องนอน ราคาสูงกว่า 700,000 ดอลลาร์!
นิวซีแลนด์ในปัจจุบันไม่ใช่ประเทศที่ผมเคยรู้จัก และอาจไม่น่าอยู่นักหากเป็นคนจน
อาหารทะเล
ระหว่างที่กำลังเขียนเรื่องอาหารในนิวซีแลนด์อยู่ ผมก็นึกถึงอาหารทะเล จึงอยากอัพเดตข้อมูลบางอย่าง ลองเข้าไปค้นดูในอินเทอร์เน็ต พบเว็บไซต์ประเภทนำเที่ยวนิวซีแลนด์หลายเว็บไซต์ หนึ่งในนั้นเป็นประเภทชวนกินอาหารนิวซีแลนด์ มีประโยคหนึ่งที่เริ่มต้นว่า “โอเค คนนิวซีแลนด์รักอาหารทะเล” (Ok, New Zealanders love their seafood …) แถมแนะนำให้กินคินา (Kina เป็นคำเรียกในภาษาเมารี) ซึ่งเป็นหอยเม่นทะเลชนิดหนึ่ง[3]
เห็นทีจะต้องเขียนเล่าถึงคนคีวีกับอาหารจากทะเล แต่คงต้องเป็นตอนหน้าครับ
เชิงอรรถ
[1] นิติ ภวัครพันธุ์, “โต๋เต๋แบบจนๆ อาหารคีวี: พัฟโลวาสักชิ้นไหม”
[2] ที่ดินและสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินเป็นประเด็นที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง และเป็นปัญหาใหญ่ระหว่างคนเมารีและชาวยุโรป สาเหตุมาจากความคิดเกี่ยวกับที่ดินที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงระหว่างทั้งสองฝ่าย เพราะในวัฒนธรรมเมารี ที่ดินเป็นของเผ่าหรือชุมชน ไม่ใช่ของปัจเจกบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ความคิดเรื่องสิทธิของเอกชนในการครอบครองที่ดินเช่นที่ปรากฏในหมู่คนยุโรป (ที่กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติและสิทธิทางกฎหมายเช่นในปัจจุบันในสังคมต่างๆ มากมาย) จึงไม่เคยอยู่ในการรับรู้ของคนเมารีก่อนที่จะติดต่อ/รู้จักกับคนยุโรป ด้วยเหตุนี้ เมื่อคนยุโรปเจรจาขอซื้อที่ดิน คนเมารีจึงคิดและเข้าใจว่าคนยุโรปขอใช้ที่ดิน โดยอาจจ่ายค่าขอใช้ที่ดินเป็นเงิน หรือเงินและสิ่งของหรือสินค้าก็ได้ ไม่ใช่การซื้อขายเช่นที่คนยุโรปเข้าใจ
[3] ดู New Zealand Pocket Guide, “16 Foods You Have to Try in New Zealand”, New Zealand Food, <https://nzpocketguide.com/new-zealand-food/>