สึนามิการเมืองในมาเลเซีย เปลี่ยนแปลงทุกอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ ช่วงเวลาน้อยกว่า 48 ชั่วโมงด้วยซ้ำไปที่การเมืองในมาเลเซียพลิกผันอย่างฉับพลัน หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันพุธที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา
1
นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรี ประธานพรรคอัมโน (United Malays National Organisation: UMNO) และผู้นำพันธมิตรฝ่ายรัฐบาล (Barisan Nasional: BN) ตัดสินใจยุบสภาก่อน แล้วเลือกกำหนดวันเลือกตั้งให้กระชั้นเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ การกำหนดวันพุธกลางสัปดาห์เป็นวันเลือกตั้งทั่วไปโดยไม่ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการล้วนมีนัยสำคัญ แต่นั่นอาจไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรรัฐบาลได้ เพราะสึนามิคนจีน (Chinese Tsunami) ยังหลอกหลอนครั้งการเลือกตั้งปี 2013 ที่ทำให้คะแนนดิบของฟากรัฐบาลน้อยกว่าฝ่ายค้าน แม้จะชนะจำนวน สส. จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ตาม
ดังนั้น ก่อนการเลือกตั้ง องคาพยพรัฐจึงทำหน้าที่เลือกข้างอย่างเต็มที่ ที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นฝีมือของคณะกรรมการเลือกตั้งในการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสที่พันธมิตรรัฐบาลจะได้ สส. เพิ่มในเขตชนบท และรวมเขตรวมประชากรเพื่อจำกัดตำแหน่ง สส. ให้น้อยลงในเขตเมืองซึ่งเป็นพื้นที่ของพันธมิตรฝ่ายค้าน ไม่นับการสกัดการลงสมัครเลือกตั้งของแกนนำฝ่ายค้าน ไม่ให้พรรคของคู่แข่งคนสำคัญของรัฐบาลอย่าง มหาเธร์ โมฮัมหมัด ทำกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงการออกกฎหมายต่อต้านข่าวปลอมที่นิยามข่าวกรองกว้างเป็นแม่น้ำ จนสามารถตีความให้การรายงานข่าวอย่างสุจริตและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐอย่างตรงไปตรงมาสามารถถูกตั้งข้อหาว่าเป็นการเผยแพร่ข่าวปลอมได้
2
ฟากฝ่ายค้านในนามพันธมิตรแห่งความหวัง (Pakatan Harapan: PH) ที่มีความขัดแย้งร้าวลึกแต่หนหลังที่ต้องพับเก็บกลืนเลือดเพื่อร่วมรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งนี้
นูรุล อิซซาร์ อันวาร์ ลูกสาวของ อันวาร์ อิบบราฮิม อดีตรองนายกฯ ที่ถูกมหาเธร์กล่าวหาทางการเมืองว่ามีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันจนต้องใช้ชีวิตในเรือนจำอย่างยาวนาน กล่าวกับสำนักข่าว AP ยอมรับว่าการตัดสินใจคืนดีกับมหาเธร์และยอมให้เขานำแนวร่วมฝ่ายค้านในการเลือกตั้งเป็นเรื่องยาก แต่ท้ายที่สุดเธอก็ต้องยอม เมื่อนึกถึงผลในเชิงปฏิบัติ “พ่อของเธอคือคนแรกที่ให้อภัย มหาเธร์ โมฮัมหมัด และอยากให้ทุกคนเดินหน้าเพื่อให้มาเลเซียเป็นไปในแบบที่ต้องการ” ซึ่งสะท้อนผ่านน้ำตาของ พ.ญ.วัน อาซิซะห์ ภรรยาของอันวาร์ ในวันที่ประกาศการตัดสินใจอันยากยิ่งนี้
ถึงที่สุดแล้วต้องนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะลำพังสึนามิคนจีนนั้นไม่สามารถที่จะโค่นล้มรัฐบาลที่นำโดยพรรคอัมโนที่ปกครองมาเลเซียมาอย่างยาวนานถึง 61 ปี ‘Reformasi Movement’ ต้องอาศัย ‘Mahathirism’ ที่ถึงจะอายุอานามถึง 92 ปี แต่ความเฉียบคม บารมีที่สั่งสมมาจากนโยบายภูมิปุตราที่กระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำให้หมู่ชนเชื้อสายมาเลย์ สร้างความไว้วางใจในหมู่ชนมาเลย์มุสลิมจนเป็น ‘สึนามิมุสลิม’ ในการเลือกตั้งครั้งนี้
3
กว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะยอมแถลงผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ก็ล่วงเลยเข้าสู่ตีสามครึ่งของวันพฤหัสบดี โดยพันธมิตรรัฐบาลได้ที่นั่งไป 79 จากเดิมที่เคยได้ 133 พันธมิตรแห่งความหวังของฝ่ายค้านได้ 122 ที่นั่งจากการเลือกตั้งทั้งหมด 222 ที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่วนพรรคมุสลิม (Malaysian Islamic Party: PAS) 17 ที่นั่ง
ความผิดปกติของเวลาการปิดหีบ การรายงานจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ที่ยุติการรายงานที่ 72 เปอร์เซ็นต์ ไปตั้งแต่บ่ายสามโมง ทั้งที่มีแนวโน้มผู้มาใช้สิทธิ์มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของการเลือกตั้งเมื่อปี 2013 การที่แกนนำบางคนของพรรคอัมโนยังเชื่อว่า เมื่อไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จ (ไม่นับความเป็นพันธมิตร) ทำให้อำนาจการตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่ที่สมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมหมัดที่ 5 หรือที่คนมาเลเซียเรียกว่า Akung
การไม่ออกมาแถลงยอมรับความพ่ายแพ้ของ นาจิบ ราซัก ทั้งที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อีกทั้งรัฐมนตรีของรัฐบาลก็สอบตกกันหลายต่อหลายคน เหล่านี้ล้วนสร้างความหวั่นไหวถึงขั้นอกสั่นขวัญหาย ยิ่งเมื่อกำหนดการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของมหาเธร์ถูกเลื่อนจากช่วงเช้า ไปเย็น ไปค่ำ กว่าจะได้โล่งใจกันทั้งประเทศก็ล่วงเข้าสู่สามทุ่มครึ่ง โดยมีผู้นำพรรคแนวร่วมแห่งความหวังทั้งสี่เป็นประจักษ์พยาน คือ พ.ญ.วัน อาซิซะห์ หัวหน้าพรรค PKR, นายลิม กวนอิง หัวหน้าพรรค DAP, นายมูยีดีน นาซิน จากพรรคเบอร์ซาตู และ นายโมฮัมหมัด ซาบู หัวหน้าพรรคอามานาฮ์
หลังพิธีสาบานตนสำนักพระราชวังมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์ย้ำว่า สมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมหมัดที่ 5 ทรงสนับสนุนและเคารพกระบวนการประชาธิปไตย รวมทั้งเจตจำนงของประชาชน และพระองค์ทรงรอที่จะทำงานร่วมกับมหาเธร์และรัฐบาลของเขาเพื่อความก้าวหน้าของประเทศและประชาชนมาเลเซีย
4
ทุกอย่างเกิดขึ้นโดยฉับพลัน จนไม่แน่ใจว่าอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก และพรรคร่วมรัฐบาลเก็บข้าวของทันหรือไม่ เพราะทันทีที่พิธีสาบานตนสิ้นสุดลง มหาเธร์ก็บอกข่าวดีกับสาธารณะว่า สมเด็จพระราชาธิบดีจะทรงอภัยโทษให้กับ อันวาร์ อิบบราฮิม ทันที และมีความเป็นไปได้ว่า ต้นเดือนมิถุนายนนี้ อดีตนักการเมืองที่โดดเด่นที่สุดของมาเลเซียจะได้ออกมาสู่โลกภายนอก และเริ่มกระบวนการเลือกตั้งเฉพาะเขตเพื่อก้าวเข้าสู่การร่วมรัฐบาล ซึ่งอาจจะทำให้สัญญาที่มหาเธร์ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงครึ่งเทอม (สองปี) ก่อนถ่ายโอนอำนาจให้อันวาร์จบเร็วกว่าที่คิด
แม้ในการประกาศชัยชนะของพันธมิตรฝ่ายค้าน มหาเธร์จะพูดว่า “ไม่แก้แค้น” แต่ประโยคถัดมาที่จะรื้อฟื้นหลักนิติรัฐนิติธรรมให้กลับมา คงสร้างความหนาวยะเยือกให้กับหลายๆ คนทีเดียว
เพราะตลอดเวลาของการเป็นรัฐบาล การทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมของรัฐบาลที่นำโดยพรรคอัมโนรุนแรงและเข้มข้น จนเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เสียงชาวมาเลย์หรือกลุ่มภูมิบุตราเหลืออด จนเกิดการเหวี่ยงครั้งใหญ่ที่สุดเข้าหาฝ่ายค้าน ดังนั้น เพียงแค่การทำให้หลักนิติรัฐนิติธรรมกลับมา ทุกหน่วยงานสืบสวนสอบสวนในคดีทุจริตใหญ่ๆ อย่างตรงไปตรงมา ดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา ก็น่าจะเพียงพอ
การไม่แก้แค้นของมหาเธร์ไม่ได้หมายรวมถึงการปรับเปลี่ยนผู้บริหารบางหน่วยงานสำคัญที่เป็นมือเป็นไม้ในการใช้อำนาจอย่างมิชอบของรัฐบาล คนแรกๆ ที่โดนหมายหัวคือ อัยการสูงสุดของมาเลเซีย ตันศรี โมฮัมหมัด อาลี อาพันดี ผู้ซึ่งมหาเธร์ระบุว่า “Bullshit” อาจเป็นคนแรกที่ถูกปรับเปลี่ยน แต่ไม่ใช่ด้วยการแก้แค้น แต่เพราะผลงานการฟอกขาวกองทุน 1MDB (1Malaysia Development Berhad) ให้กับ นาจิบ ราซัก ทั้งที่มีการยักยอกเงินหลายพันล้านดอลลาร์ ประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่างสืบสวนและเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศตนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ ปปช. และ กกต. ที่อยู่ในบัญชีต้องจัดการ
5
ข้อน่าสนใจของการเลือกตั้งครั้งนี้ อยู่ที่การลงคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 20-40 ปี ซึ่งถือเป็นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงส่วนใหญ่ สื่อมวลชนจำนวนมากรายงานว่าพวกเขาไม่สนใจการเมือง หรือยังไม่ตัดสินใจแม้ใกล้วันเลือกตั้ง ซึ่งกลุ่มนี้เป็นเสียงที่ทุกฝ่ายอยากแย่งชิง
ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ไปทำวิจัยและพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ในมาเลเซีย พบว่า จำนวนมากรู้สึกอิหลักอิเหลื่อที่อยากจะหาทางเลือกใหม่ๆ แต่ฝ่ายค้านกลับชูคนเก่าอย่างมหาเธร์ ซึ่งประวัติการทำงานสมัยเป็นรัฐบาลก็ใช้อำนาจมิชอบไม่ต่างจากรัฐบาล นาจิบ ราซัก เท่าไหร่ ทำให้เสียงคนรุ่นใหม่แตกเป็นสองข้าง ข้างหนึ่งรณรงค์ให้โหวต NO หรือทำบัตรเสีย (จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการรายงานจำนวนบัตรเสีย บัตรที่ไม่ลงให้ผู้สมัครคนใด และจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ ซึ่งดูเหมือนว่าไม่มีคนสนใจอีกแล้วเมื่อผลชนะชี้ขาดว่าฝ่ายค้านโค่นรัฐบาลได้)
กับอีกข้างหนึ่งที่คิดว่าจะต้องลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์ (strategic vote) คือยังไงก็ต้องโหวตเลือกฝ่ายค้านเพื่อที่จะคว่ำรัฐบาลให้ได้ก่อน มหาเธร์เป็น ‘สิ่งชั่วร้ายที่จำเป็น’ ถ้าไม่เอาเข้ามา ไม่มีทางที่จะโค่นล้ม นาจิบ ราซัก ได้
ในหมู่คนรุ่นใหม่ประเด็นเรื่องเชื้อชาติซึ่งเคยเป็นประเด็นสำคัญของการเมืองมาเลเซียมีความสำคัญน้อยลงมาก คนเหล่านี้ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของมาเลเซียไปสู่สังคมที่ไม่ใช่วางอยู่บนเรื่องเชื้อชาติแต่ให้ก้าวข้ามพ้นเชื้อชาติออกไปเป็น multi-racial ยอมรับความแตกต่างหลากหลายของเชื้อชาติ ไม่ควรให้สิทธิพิเศษกับบางคนแล้วไปกดขี่คนกลุ่มอื่นเอาไว้
นี่คือความชัดเจนที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้
6
ก้าวข้างหน้าของรัฐบาลใหม่มาเลเซีย แม้จะได้ผู้นำเก๋าเกมอย่างมหาเธร์ แต่ยังมีหลายประเด็นเป็นเรื่องท้าทาย ทั้งคำมั่นสัญญาในช่วงการหาเสียงที่จะยกเลิกการเก็บภาษีการใช้สินค้าและบริการ หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม การกลับมาอุดหนุนราคาพลังงานที่รัฐบาลราซักเคยยกเลิกไป นโยบายที่ค่อนข้างเสรีนิยมในพันธมิตรฝ่ายค้านจะไปกันได้กับความคิดของมหาเธร์หรือไม่ รวมทั้งอิทธิพลของจีนผ่านทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มหาเธร์วิจารณ์รัฐบาลราซักมาโดยตลอด ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องประนีประนอมรอมชอมกันอยู่พอสมควร และเร่งแบ่งสรรอำนาจหน้าที่ให้ทุกส่วนเดินหน้าไปได้
The Economist มองว่า ชัยชนะของฝ่ายค้านมาเลเซียในการเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะส่งสัญญาณบางอย่างให้กับภูมิภาคที่เผด็จการหลายชาติพยายามที่จะกดขี่และละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางการเมือง ถือว่าเป็นชัยชนะที่จับหัวใจสำหรับฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา แล้วก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติไม่ได้ใช้อำนาจพิเศษหรือเปลี่ยนแบบฉับพลัน ซึ่งได้แต่หวังว่า กัมพูชา สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม น่าจะลองคิดถึงวิธีการเช่นนี้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ชัยชนะนี้จะดำรงอยู่ได้นานแค่ไหนจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและความตั้งใจจริงของรัฐบาลใหม่ และการลุกขึ้นมาตรวจสอบของประชาชนคนมาเลเซียที่เลือกพวกเขาเข้ามาทำหน้าที่
7
บทวิเคราะห์ของ อุย คี เบ็ง (Dr.Ooi Kee Beng) ผู้อำนวยการสถาบันปีนัง มองผลการเลือกตั้งครั้งนี้ที่พลิกฟ้าหงายแผ่นดินในมาเลเซียได้อย่างน่าสนใจ
หากย้อนกลับไปดูในการเลือกตั้งปี 2013 พันธมิตรฝ่ายค้านชนะที่คะแนนดิบหรือว่า popular vote ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลชนะจำนวน สส. จึงทำให้สามารถเป็นรัฐบาลได้ แต่ครั้งนี้ก็นำมาซึ่งความพ่ายแพ้อย่างแท้จริง
ฝ่ายรัฐบาลขึ้นชื่อว่ามีแทคติกต่างๆ มากมาย เสมือนเป็นเจ้าของสนามแข่งขัน ซื้อกรรมการใช้กฎระเบียบในการกีดกันฝ่ายค้านออกจากสนาม แถมยังเป็นเจ้าของช่องสื่อต่างๆ ที่รายงานข่าวด้วย แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ นั่นคือการที่ให้ นาจิบ ราซัก ยังคงเป็นผู้นำของพันธมิตรฝ่ายรัฐบาล เหตุเพราะตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอย่างยาวนาน นาจิบ ราซัก มีเรื่องอื้อฉาวมากมายไม่ใช่เพียงแค่เรื่องทุจริตกองทุน 1MDB ยังมีประเด็นที่ยึดอำนาจมาจากนายกฯ คนก่อน อับดุลลา บัดดาวี ข่าวอื้อฉาวฆาตกรรมนางแบบชาวมองโกเลีย ฯลฯ
เมื่อแพ้ popular vote ในการเลือกตั้งปี 2013 แทนที่จะใช้วิธีการที่ไปดึงคะแนนเสียงคนในชุมชนจีนมาเลย์หรือถอดใจที่จะไม่สู้ในสมรภูมินั้น แต่กลับทำเหมือนว่าในประเทศนี้มีแค่ชนชาวมาเลย์เท่านั้น แล้วก็ใช้วิธีนโยบายชาตินิยมสุดขั้ว มุสลิมสุดขั้ว จนนำมาซึ่งความเหลืออดของมหาเธร์ที่ต้องถ่อสังขารในวัย 92 ออกมาลงสนามการเลือกตั้งอีกครั้ง เพื่อหยุดยั้งการใช้อำนาจอย่างมิชอบและการคอร์รัปชัน ซึ่งสำหรับเขาแล้วเป็นหน้าที่ที่ต้องจัดการสิ่งชั่วร้ายที่เขาสร้างมา
ยิ่งฝ่ายรัฐบาลใช้แทคติกมากเท่าไร ประชาชนฝ่ายกลางๆ ก็ยิ่งเห็นความไม่ชอบธรรมมากเท่านั้น ซึ่งนี่ตรงกับสิ่งที่นักยุทธศาสตร์ของฝ่ายค้านคาดการณ์ไว้ ผนวกรวมกับกรณีทุจริตที่แต่ละหน่วยงานรัฐช่วยกันฟอกขาวให้ ถึงขั้นเกิดคำถามว่า
ถ้าพรรคอัมโนเปลี่ยนแปลงประธานพรรคไปเป็นคนอื่นสักหนึ่งปีก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ให้เป็นคนที่มีความน่าเชื่อถือ คนที่ประชาชนไว้ใจได้ ก่อนที่มหาเธร์จะเหลืออดแล้วลงมานำการสู้ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ นักวิชาการจากสถาบันปีนังเชื่อว่านั่นอาจจะทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถที่จะรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นได้เท่านี้
อย่างไรก็ตาม จะโทษ นาจิบ ราซัก ทั้งหมดก็คงไม่ได้ ทั้งหมดต้องโทษวิวัฒนาการของพรรค การผูกขาดอำนาจและพันธมิตร BN ที่ ปล่อยให้ประธานพรรคสามารถทำอะไรก็ได้อย่างที่เขาต้องการโดยไม่ได้ถูกตรวจสอบเลยหรือแม้แต่ภายในวงเดียวกันเองก็ไม่มีใครกล้าคัดค้าน ขณะที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะขัดขวางหรือตรวจสอบจากด้านนอก
แน่นอนว่าทั่วโลกกำลังจับตาดูพัฒนาการของมาเลเซีย
…เกิดสึนามิที่มาเลเซียแล้ว คำถามคือ ประเทศทางตอนเหนือของมาเลเซียหนาวบ้างไหม