กรณีฆาตกรรมครูสาวชาวกะฉิ่น กับคำตอบที่ว่างเปล่าของกองทัพพม่า

-1-

หญิงชราจำคืนนั้นได้ดี เธอนั่งเล่นอยู่หน้าโบสถ์คริสต์แบปติสต์ในหมู่บ้าน ตั้งแต่ช่วงเย็นจนพลบค่ำ เมื่อความมืดเริ่มปกคลุมพื้นที่มากขึ้น เธอเดินกลับเข้าไปในบ้านและอ่านพระคัมภีร์เหมือนทุกวัน ก่อนผล็อยหลับไป หลังจากนั้นราวๆ 1 ชั่วโมง หรือ 2 ชั่วโมง เมียว ติ่น หลานชายของเธอก็เข้ามาปลุก และถามเธอว่า “ได้ยินเสียงใครกรีดร้องไหม”

เธอจำได้ว่าเมื่อช่วงหัวค่ำ ทั้งหมู่บ้านตกอยู่ในความเงียบสงัด ไม่มีเสียงอะไรแปลกประหลาด แม้แต่เสียงร้องของหมาแมว สักพักหนึ่ง ทั้งคู่ได้ยินเสียงร้องอันน่าสยดสยอง ฟังดูเหมือนเสียงเฮือกสุดท้ายของใครบางคนที่กำลังจะตาย พวกเขานั่งเงี่ยหูฟังกันอยู่สักพักหนึ่ง จนแน่ใจว่าเป็นเสียงของใครบางคน ตอนนั้นเป็นเวลาเที่ยงคืนกว่าแล้ว หญิงชราและหลานชายตัดสินใจกันว่าจะฝ่าความมืดออกไปดู เผื่อว่ามีอะไรเกิดขึ้นในหมู่บ้านของพวกเขา ภรรยาของ เมียว ติ่น ก็ได้ยินเสียงเดียวกันนี้และเธอก็ออกไปกับพวกเขาด้วย

-2-

หมู่บ้านกองคา เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในรัฐฉานตอนเหนือ ใกล้กับชายแดนจีน-เมียนมา บ้านเรือนส่วนใหญ่ของที่นี่สร้างด้วยไม้ไผ่หลังเล็กๆ ซึ่งกระจุกตัวอยู่บนเนินเขาด้านล่าง ในหมู่บ้านเต็มไปด้วยต้นกล้วยและขนุน กลางหมู่บ้านเป็นลานดินที่เต็มไปด้วยฝุ่น ซึ่งบรรดาหนุ่มๆ ใช้เป็นสนามเล่นฟุตบอลประจำหมู่บ้าน ถนนภายในหมู่บ้านไม่มีไฟฟ้า พวกเขาทั้ง 3 คน รู้สึกประหม่าในขณะที่เดินฝ่าความมืดออกไป พวกเขาถือไฟฉายคนละกระบอก ทั้ง 3 คน เดินผ่านลานดิน ผ่านอนุสรณ์สถานที่มีศิลาจารึกชื่อผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน ผ่านบ้านหลังเล็กๆ ทางขวามือที่มีครู 2 คน อาศัยอยู่ พวกเขาเดินเลยบ้านของครู 2 คนไป เดินไปสุดทางถนน พวกเขาส่องไฟฉายไปรอบๆ บริเวณ แต่ก็ไม่เห็นอะไรเลย

พวกเขาหันกลับไปที่บ้านของครู 2 คน หญิงชรา กับ เมียว ติ่น ผลัดกันเคาะประตูเบาๆ ร้องเรียก “ครู ครู …” แต่ไม่มีเสียงตอบรับ เธอคิดว่าทุกคนคงหลับกันหมด ทั้ง 3 คน ตัดสินใจว่าอาจจะไม่มีอะไรผิดปกติ บางทีครูอาจกำลังนอนหลับลึก เสียงที่พวกเขาได้ยิน อาจเป็นเสียงเด็กร้องไห้ พวกเขาจึงกลับบ้านและพยายามข่มตานอนหลับ

-3-

นางแสง หญิงชรา ใบหน้าสีเหลืองซีด จากผงไม้ตะนะคา นั่งอยู่บนเก้าอี้พลาสติก เธอยังจำได้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นในเช้าวันรุ่งขึ้น บ้านของเธออยู่ที่ด้านล่างของเนินลาด มองเห็นบ้านครู 2 คนที่อยู่บนเนิน และเธอมักโบกมือทักทายให้พวกเขาทุกเช้าขณะที่พวกเขาเดินขึ้นเนินไปยังอาคารเรียน แต่วันนี้เธอสังเกตว่าจะ 9 โมงแล้ว ยังไม่เห็นครูออกมา เธอไม่เห็นควันไฟจากครัวไฟเล็กๆ หลังบ้านในตอนเช้าเหมือนทุกวัน นี่มันเริ่มผิดปกติอย่างแน่นอน เธอจึงตัดสินใจเดินไปดู

หญิงชราผลักประตูหน้าบ้านและเข้าไปในห้องนั่งเล่นที่มีม้านั่งไม้ไผ่ เธอไม่พบครูสาวทั้ง 2 เธอผลักประตูเข้าไปในห้องด้านในซึ่งเป็นห้องนอน ในตอนแรกเธอมองเห็นแต่ผ้าห่มกองยุ่งๆ อยู่ เธอกวาดสายตามองไปรอบๆ ห้องและเหลือบไปที่มุมห้อง พบใบหน้าของครูสาว ซึ่งมักจะยิ้มให้เธอในตอนเช้า ตอนนี้ ผมสีดำยาวของเธอกลายเป็นสีแดงจากเลือดในกาย เธอยังคงนอนแน่นิ่ง

“ฉันไม่กล้าดูแล้ว” หญิงชราเล่า “ฉันรีบออกมาจากบ้านของครู พอออกมาข้างนอก ฉันทรุดตัวลงกับพื้น เริ่มร้องไห้และตะโกนว่า “ช่วยครูด้วย ช่วยครูด้วย” ชาวบ้านคนอื่นๆ ก็วิ่งมาจากทุกทิศทุกทาง ตอนนั้นเธอยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะไม่เคยมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นในหมู่บ้านของเธอ 

เป็นเวลาหลายชั่วโมงกว่าที่ตำรวจจะมาถึงบ้านของครู ในตอนแรกตำรวจยังไม่ยอมมาที่เกิดเหตุ โดยบอกกับชาวบ้านทางโทรศัพท์ว่า พวกเขากลัวว่าจะถูกซุ่มโจมตีบนท้องถนน โดยกลุ่มติดอาวุธกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังทำสงครามกับกองทัพเมียนมา

-4-

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า มีการสู้รบเช่นนี้ในพื้นที่ชนบทหลายแห่งของเมียนมา กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มกบฏ ท้าทายกองทัพเมียนมาที่มีอำนาจเหนือกว่า ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวกะฉิ่น และเป็นเขตของกองกำลังกะฉิ่นอิสระ กลุ่มกองกำลังที่ใหญ่กลุ่มหนึ่ง เมื่อเทียบกับอีกหลายๆ กลุ่มที่ต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ของกลุ่มตนเอง และพยายามหยุดความโลภของนายทหารและพวกพ้องของพวกเขาที่ขโมยพื้นที่การเกษตรนับหมื่นเอเคอร์ เพื่อเอาไปใช้สำหรับโครงการเชิงพาณิชย์ของพวกเขาเองและแสวงหาโชคลาภในเหมืองหยก เหมืองทองคำ อำพัน และเหมืองพลอย

ชาวบ้านคนหนึ่งไปตามเจ้าหน้าที่ตำรวจ พวกเขาบันทึกวิดีโอที่เกิดเหตุ มันเผยให้เห็นอาชญากรรมของความเกลียดชังที่บริสุทธิ์ 

ครูซิน (တန်ဘောင်ခေါန်နန်စင်) อายุ 21 ปี กับครูลุรา (မရန်လုရာ) อายุ 20 ปี หญิงสาวคริสเตียนแบปติสต์ ชาวกะฉิ่น พวกเธอเป็นครูอาสาสมัครจาก KACHIN BAPTIST CONVENTION (KBC)

ไม่ใช่เพียงแค่การล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้นที่เห็นได้ชัดจากการที่เสื้อผ้าของเธอถูกฉีกออก หรือแม้แต่ท่อนซุงขนาด 3 ฟุตที่เปื้อนเลือด ซึ่งวางอยู่ข้างๆ แต่มันเผยให้เห็นว่า ในที่สุดชีวิตก็ถูกทำลายจากพวกเขา มันเป็นเครื่องหมายแห่งความเกลียดชัง ใครบางคนใช้มีดแทงเข้าไปที่หลังไหล่ด้านบน แม้กระทั่งที่ใบหน้า ไม่ใช่เพื่อฆ่า แต่เพื่อสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวใจ และยอมจำนน 

ขณะตรวจสอบที่เกิดเหตุ ชาวบ้านบอกว่าพวกเขาเชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะจับคนร้ายได้ เพราะเจ้าหน้าที่อาวุโสหัวหน้าทีมรับปากกับชาวบ้านในเช้าวันนั้นว่าจะจับคนทำผิดมาลงโทษ แต่เขาไม่ได้ทำตามอย่างที่บอกกับชาวบ้าน และนั่นคือสาเหตุที่เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในเมียนมา เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้อยู่กันตามลำพังในคืนวันที่ 19 มกราคม 2015 ก่อนหน้านั้นทหารกลุ่มหนึ่งได้ปรากฏตัวขึ้น นายพลตรีและทหารอีกประมาณ 20 หรือ 30 นาย จากกองพันทหารราบเบา 503 ได้เข้ามาในพื้นที่ และเริ่มลาดตระเวนตามเนินเขาใกล้ๆ และรอบๆ หมู่บ้าน เพื่อป้องกันรถบรรทุกเสบียงของทหารที่ผ่านไปมาในพื้นที่หมู่บ้านกองคา

นางแสงเล่าว่าครูทั้ง 2 คน กลัวทหาร เพราะทุกที่ที่มีการสู้รบระหว่างกองทัพกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ มักมีรายงานเกี่ยวกับความโหดร้ายที่กองทัพเมียนมาก่อขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเผาหมู่บ้าน การใช้นักโทษเป็นคนกวาดทุ่นระเบิด หรือการบังคับใช้แรงงาน จึงเป็นธรรมดาที่ผู้หญิงชาติพันธุ์จะกลัวเป็นพิเศษ 

2 เดือนก่อนที่ครูจะถูกสังหาร Women’s League of Burma (WLB) รายงานว่า “กองทัพเมียนมาใช้ความรุนแรงทางเพศอย่างเป็นระบบและแพร่หลาย” ในปีเดียวกันนั้น ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของ UN บันทึกข้อกล่าวหาว่ามีผู้หญิงและเด็กสาวมากกว่า 100 คน ถูกทหารข่มขืน ผู้หญิง 28 คน เสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บเนื่องจากถูกทารุณกรรมทางเพศ

นางแสงเล่าว่าทหารเข้ามาป้วนเปี้ยนในหมู่บ้าน 2 ครั้ง ตั้งแต่ครูมาสอนหนังสือที่หมู่บ้าน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2014 เธอเล่าว่าหญิงสาว 2 คน มาขอนอนที่บ้านของเธอ 2 ครั้ง เพราะพวกเธอรู้สึกปลอดภัยมากกว่า แต่คราวนี้ครูไม่ได้มานอนที่บ้านของเธอ เพราะได้ข่าวว่าครูมัวยุ่งอยู่กับการจัดงานเลี้ยงวันเกิดให้เด็กหญิงอายุ 4 ขวบ และนางแสงก็ไม่ได้ไปบ้านครู เธออ่านพระคัมภีร์และหลับไปตอน 3 ทุ่ม ในคืนนั้น 

-5-

1 สัปดาห์หลังการฆาตกรรม หนังสือพิมพ์เมียนมารายงานข่าวอาชญากรรม ผู้นำกะฉิ่นกล่าวโทษทหารเมียนมาอย่างเปิดเผย รัฐบาลเมียนมาได้ออกแถลงการณ์ว่า “ผลการสอบสวนของตำรวจในพื้นที่และคณะสอบสวนร่วม วิเคราะห์และยอมรับว่ากำลังพลทหารไม่ใช่ผู้กระทำความผิด อย่างไรก็ตาม ขณะทำการสอบสวน กองทัพถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี กองทัพจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เขียนข้อความพาดพิงกองทัพ”

อย่างไรก็ตาม จากปากคำของชาวบ้านกองคา และคำแถลงที่ตำรวจรวบรวมเองได้บอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างออกไป เริ่มด้วยปากคำของหญิงชรา เมียว ติ่น และภรรยาของเขาได้ยินเสียงกรีดร้องกลางดึก ห่างออกไปประมาณ 200 เมตร ชาวบ้านอีกคนหนึ่งก็ได้ยินเสียงนั้นเช่นกัน พวกเขาบอกว่าได้ยินเสียงประหลาดในวันที่มีทหารหลายสิบนายเข้ามาในหมู่บ้าน 

แต่เมื่อหญิงชราออกไปตามเสียงนั้น เธอกลับไม่เห็นทหารสักคน ซิน ทุน ละ ผู้ใหญ่บ้านกองคาบอกว่าวันรุ่งขึ้นทหารเข้ามาที่ลานหน้าโบสถ์แบปติสต์ ทหารทั้งหมดบอกว่าไม่ได้ยินในสิ่งที่ชาวบ้านได้ยินกัน

หลักฐานทางกายภาพบางอย่างจากกล้องวิดีโอของตำรวจ เผยให้เห็นกองท่อนไม้ห่างจากบ้านครูประมาณ 100 เมตร ซึ่งเป็นไปได้ว่ามันอาจจะเป็นแหล่งที่มาของท่อนซุงที่ใช้ในการฆาตกรรม บนพื้นดินมีรอยชอล์กสีขาวขีดเป็นวงกลมรอบรอยเท้าเอาไว้ มันไม่ใช่รอยรองเท้าแตะของชาวบ้าน แต่เป็นรอยของรองเท้าบูทหนักๆ ที่กดลงไปบนดินเป็นทางยาว ผ่านไปทางแปลงอ้อยที่ทอดยาวออกไปทางหลังบ้านของครูสาว 

2 เดือนต่อมา ชายในหมู่บ้านคนหนึ่งซึ่งเข้าไปในไร่อ้อยเพื่อยิงนก ได้พบเสื้อทหารเปื้อนรอยคราบสกปรกถูกทิ้งไว้ และใกล้ๆ กันนั้นเขาก็พบมีด

แม้ว่าหลักฐานทางกายภาพเหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะระบุตัวบุคคล แต่ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าทหารเป็นผู้ต้องสงสัยหลัก ในทางตรงกันข้าม ไม่มีอะไรจะชี้ไปที่ผู้ต้องสงสัยที่ไม่ใช่ทหาร ตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านทุกหลังในหมู่บ้าน แต่ไม่พบเสื้อผ้าที่เปื้อนเลือด ชาวบ้านกองคาตั้งข้อสังเกตกันว่าหากมีกลุ่มชายท้องถิ่นคนใดตัดสินใจข่มขืนครูทั้งสอง พวกเขาสามารถเลือกคืนใดก็ได้ของปีที่จะทำเช่นนั้น และคงไม่น่าจะใช่คืนเดียวกับที่มีกองพันทหารเข้ามาในหมู่บ้าน 

-6-

ไม่มีทหารคนใดถูกถามคำถามที่จะช่วยไขคดี ไม่มีคำถามถึงการตอบสนองต่อเสียงกรีดร้องในกลางดึกคืนนั้น หรือความโกรธเกรี้ยวในตอนเช้า ไม่มีคำถามให้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการลาดตระเวนกลางคืน แต่ตำรวจกลับถามถึงชีวิตครอบครัว อาชีพ การเคลื่อนไหวล่าสุดของกองพัน และพวกเขาได้ยินข่าวการฆาตกรรมอย่างไร มีบางอย่างแปลกๆ เกี่ยวกับคำตอบของพวกเขา นี่เป็นการสอบสวนที่สรุปอย่างเป็นทางการว่า ไม่มีบุคลากรกองทัพเกี่ยวข้องกับคดีนี้

มิน มิน อู ผู้บัญชาการตำรวจท้องที่ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของเขายังคงทำการสอบสวนและจะดำเนินการต่อไปจนกว่าจะพบความจริง เขาอ้างว่าแม้พวกเขาจะใช้วิธีการสอบสวนที่เข้มข้นกับทหารได้ “แต่จนถึงตอนนี้ เรายังไม่พบร่องรอยที่น่าสงสัยในส่วนของกองทัพ” เขากล่าว

ประเด็นตรงนี้ ไม่ใช่แค่ว่าไม่มีกองกำลังตำรวจที่สามารถเอาผิดทหารทั้งหมดได้ ยิ่งไปกว่านั้น หลักฐานยังเชิญชวนให้มีการสรุปทางการเมืองว่า ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร กองทัพเมียนมายังคงมีอำนาจมากพอที่จะทำให้พวกเขารอดพ้นจากการสอบสวนคดีฆาตกรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

-7-

ตอนนี้เขาอายุ 82 ปีแล้ว ในช่วงหลายปีที่เขาสูญเสียอำนาจ แน่นอนว่าเขาเปลี่ยนไป แต่ที่ทุกคนยังจำได้ไม่เปลี่ยนก็คือ ชายผู้นี้คือผู้ควบคุมเครื่องจักรที่ใช้กดขี่ประเทศนี้ 

เขาคือ พลเอกขิ่น ญุ่น ผู้ซึ่งได้รับสมญานามว่า ‘The Prince of Evil’ ขึ้นชื่อเรื่องการสอบสวนที่โหดร้าย เขาเป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรองทางทหาร ซึ่งเป็นเครื่องมือปราบปรามผู้เห็นต่าง โดยมีผู้แจ้งข่าวในทุกพื้นที่ มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับประชาชนที่ถูกจับกุมเพราะอ้างอิงถึงประชาธิปไตย เขาสั่งให้ทุกครัวเรือนต้องส่งรายชื่อสมาชิกทุกคนที่อาศัยอยู่แก่นายทะเบียนข่าวกรอง และรายงานแขกที่มาเยี่ยมบ้านทุกคน เพื่อให้สามารถติดตามการเคลื่อนไหวของทุกคนได้ ไม่มีพิธีกรรมทางศาสนาหรือการประชุมสาธารณะที่จัดได้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ แม้แต่พระสงฆ์ก็ไม่สามารถบวชได้โดยไม่ได้รับอนุญาต หน่วยข่าวกรองของ พลเอกขิ่น ญุ่น พิจารณากรองทุกถ้อยคำที่ตีพิมพ์หรือออกอากาศอย่างถี่ถ้วน

เขาเกี่ยวข้องกับการสั่งยิงผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยหลายพันคน และเกี่ยวข้องกับอีกหลายพันคนที่ต้องกลายเป็นนักโทษการเมืองในคุกเมียนมา เพราะกล้าที่จะซักถามและวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครอง เขาเป็นคนแรกที่เถียงว่าจะต้องเริ่มรื้อระบอบเผด็จการของตน ในปี 2003 พลเอกอาวุโสตัน ฉ่วย ประธานาธิบดีในขณะนั้น ได้แต่งตั้ง ขิ่น ญุ่น เป็นนายกรัฐมนตรี เขาได้ทำในสิ่งที่เรียกว่า ‘Roadmap to Democracy’ ซึ่งเป็นแผน 7 ขั้นตอนในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่และการเลือกตั้งโดยเสรี

เขาไม่ได้อ้างว่าตัวเขาหรือนายพลคนอื่นๆ เปลี่ยนแปลงแนวคิดอย่างกะทันหัน แต่เขายอมรับความจริงทางการเมืองเมียนมาว่าเผด็จการล้มเหลวในฐานะรัฐบาล “ประเทศของเรายากจน เศรษฐกิจก็แย่ ประเทศตะวันตกไม่ชอบการปกครองของทหารที่นี่ ดังนั้นเราจึงไม่ได้รับการลงทุน หากเราปรับปรุงประชาธิปไตย ประเทศก็จะพัฒนาได้ เราต้องพึ่งพาจีน ซึ่งให้เงินเราเพียงเล็กน้อย”

หากชนชั้นสูงทางทหารสนใจในระบอบประชาธิปไตย นั่นเป็นการเคลื่อนไหวในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับ มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ในมอสโคว์ หรือ เดอ แคลร์ค (Frederik Willem de Klerk) ในโจฮันเนสเบิร์ก ขิ่น ญุ่น เรียกร้องให้นายพลเจรจาปฏิรูป เพราะเผด็จการของพวกเขากำลังพัง

นายพลเรียกร้องความสงบเรียบร้อย แต่สร้างระบบสังคมที่เต็มไปด้วยการทุจริตและเครือข่ายของคู่หูที่แข่งขันกัน นโยบายใดๆ ที่กำหนดจากศูนย์กลาง มีแนวโน้มที่จะล้มเหลว เว้นแต่จะได้รับสินบนและพันธมิตรที่มีอำนาจ แผนการของเขาในการยุติเผด็จการจบลงเมื่อนายพลตัน ฉ่วย แต่งตั้งให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี “ในปี 2003 เขาแต่งตั้งให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรี” เขากล่าว “ในปี 2004 เขาจับผม” ขิ่น ญุ่น ถูกตัดสินจำคุก 44 ปี ในข้อหาทุจริต แต่ภายหลังได้รับการลดหย่อนให้กักบริเวณภายในบ้าน และได้รับอิสรภาพจากการนิรโทษกรรม ปี 2011

พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคของชายวัย 82 ปี เมื่อเขาไปเยี่ยม ขิ่น ญุ่น ที่บ้านในกรุงย่างกุ้ง เมื่อเดือนธันวาคม 2021 แหล่งข่าวได้รับการยืนยันจากคนในครอบครัวของ ขิ่น ญุ่น ว่าเขากำลังเข้ารับการรักษาโรคอัลไซเมอร์ และไม่น่าจะรู้ว่าเขากำลังพบปะกับใคร หัวหน้าสายลับที่ครั้งหนึ่งเคยดูหยิ่งยโส น่าเกรงขาม เปลี่ยนเป็นเปราะบาง ซีดเซียว และอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด จากภาพข่าวที่เผยแพร่โดยรัฐบาลเผด็จการทหารของ มิน อ่อง หล่าย

อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง เปิดเผยว่า หลังการรัฐประหาร พลเอกมิน อ่อง หล่าย ได้ติดต่ออดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองที่เคยอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของ พลเอกขิ่น ญุ่น ซึ่งขณะนี้พวกเขาเหล่านั้นต่างก็มีอายุ 60 และ 70 ปีแล้ว เพื่อขอความช่วยเหลือในด้านต่างๆ รวมถึงการติดต่อประสานงานกับต่างประเทศ เช่น อดีตสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐอเมริกา – บิล ริชาร์ดสัน (Bill Richardson) ซึ่งบินเข้ามายังเมียนมาในเดือนพฤศจิกายน เพื่อเจรจาปล่อยตัว แดนนี เฟนสเตอร์ (Danny Fenster) นักข่าวอเมริกัน ที่ถูกคุมขัง 

พลเอกมิน อ่อง หล่าย ขอให้อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูงที่เคยทำงานใกล้ชิดกับ ขิ่น ญุ่น อย่าง ขิ่น หม่อง เตง, หง่วย ทุน และ เตง ฉ่วย เดินทางไปยังกรุงเนปิดอว์เพื่อทำงานช่วยเหลือการปกครองของเผด็จการทหารชุดใหม่

-8-

การตายของครูสาว 2 คน ไม่ใช่สัญญาณเดียวที่บ่งชี้ถึงอนาคตการเมืองของประเทศ แต่มันเริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของนายพลปี 2008 รัฐธรรมนูญได้รับการออกแบบมาอย่างชัดเจน เพื่อปกป้องอำนาจหลักของพวกเขา กองทัพได้รับที่นั่ง 25 เปอร์เซ็นต์ ในสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 สภา ซึ่งทั้งหมดไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเพียงพอที่จะขัดขวางการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องมีคะแนนเสียงมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ พวกเขายังสามารถควบคุมที่นั่ง 6 จาก 11 ที่นั่ง ในสภาป้องกันและความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจมหาศาล

แน่นอนว่า การปฏิรูปของพวกเขามีความสำคัญ แต่แกนกลางทางการทหารยังคงไม่ถูกแตะต้อง งบประมาณกลาโหมเพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งยังคงกลืนกิน 13.2 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐ เทียบกับ 7 เปอร์เซ็นต์สำหรับการศึกษา และเพียง 4 เปอร์เซ็นต์สำหรับด้านสุขภาพ กลไกของการเซ็นเซอร์เหมือนจะหายไป แต่นักข่าวรู้ว่ายังมีเส้นสีแดงที่เมื่อพวกเขาข้ามไปก็อาจเป็นอันตรายได้ 

หนังสือพิมพ์รายวัน Unity Journal รายงานเมื่อเดือนกรกฎาคม 2014 ว่า ฐานทัพลับแห่งหนึ่งกำลังผลิตอาวุธเคมี ทำให้หัวหน้าผู้บริหาร บรรณาธิการ และนักข่าว 3 คน ถูกจับและถูกจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ด้วยการใช้แรงงานอย่างหนัก และทำให้ อ่อง จ่อ นัย นักข่าวอิสระ เสียชีวิต ด้วยสภาพศพที่กะโหลกร้าว ฟันกรามหัก ใบหน้าถูกทุบ แต่กองทัพบอกว่าเขาถูกยิงขณะพยายามหลบหนี

-9-

ในพื้นที่ชนบทหลายแห่ง กองทัพเมียนมายังคงพัวพันกับสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานที่สุดในโลก ยังคงอาศัยการเผาหมู่บ้าน และยังคงปฏิเสธข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการเอกราชในระดับหนึ่ง นักข่าวต่างประเทศเคยถาม ขิ่น ญุ่น ว่า หากพรรค NLD (National League for Democracy) ของ อองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนได้สำเร็จ จะสามารถเก็บกองทัพไว้ในค่ายทหารได้ไหม มันคงเป็นเรื่องง่ายสำหรับเขาที่จะบอกว่าทหารได้เรียนรู้บทเรียนและจะไม่มีวันยึดอำนาจอีก แต่เขากลับตอบนักข่าวไปว่า “ฉันไม่ใช่ผู้เผยพระวจนะ ฉันไม่สามารถบอกอนาคตได้”

ผู้ปกครองทหารอ้างว่ายอมรับประชาธิปไตย และจะโอนอำนาจอย่างเป็นทางการไปยังพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง แต่การฆาตกรรมซ้ำซ้อนที่ยังไม่คลี่คลาย และยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ และการสร้างกลไกการสอดส่อง อาจเป็นตัวบ่งชี้ว่ากองทัพเมียนมายังไม่พร้อมที่จะมอบอำนาจการปกครอง 

-10-

19 มกราคม 2022 Kachin News รายงานว่า ครอบครัวของครูสาวยังคงทวงถามและรอคอยความเป็นธรรม ในขณะที่ KACHIN BAPTIST CONVENTION (KBC) ได้จัดงานไว้อาลัยครบรอบการจากไปของครูสาวทั้งสองที่เมืองมิจจีนา รัฐกะฉิ่น ซึ่งจัดขึ้นปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้ว 

“KBC และชุมชนกะฉิ่น ได้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้หญิงกะฉิ่น 2 คนนี้มาโดยตลอด แม้ว่าจะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่เรารู้สึกว่าเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน” คลัม แซมซั่น ศาสนาจารย์แห่ง KBC กล่าวข้อความถึงสาธารณชน 

“ผมได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการกองทัพเมียนมาให้ลืมเกี่ยวกับกรณีของครูอาสาสมัคร ผมบอกเขาว่าในฐานะคริสเตียน เราชาวคริสต์กะฉิ่น รู้ดีเกี่ยวกับการให้อภัย ความอดทน และการปล่อยวางความเจ็บปวด แต่เรายังต้องทำงานเพื่อให้ได้ความจริง เราต้องการเปิดเผยว่าใครเป็นผู้กระทำ” 

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า