จำนวนผู้เสียชีวิตคือ 125 ล้าน หากอินเดียและปากีสถานจบความขัดแย้งแคชเมียร์ด้วยนิวเคลียร์

ความขัดแย้งประเด็นแคชเมียร์ระหว่างอินเดียและปากีสถานอาจพัฒนาไปสู่หายนะระดับโลกที่คร่าชีวิตผู้คนหลักร้อยล้าน มากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 หากทั้งสองชาติเมินแนวทางสันติและตัดสินกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์

ความขัดแย้งครั้งใหม่ที่แคชเมียร์เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม เมื่อรัฐบาลอินเดียยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 370 และ มาตรา 35A ที่เคยให้แคชเมียร์มีอำนาจอธิปไตยและมีอิสระในการปกครองตนเอง ทำให้ดินแดนที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมอย่างแคชเมียร์กลายเป็นต้นเหตุของกรณีพิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถาน

เมื่ออินเดียดำเนินการเช่นนั้น ปากีสถานประกาศไม่ยอมรับและยืนยันต่อสู้ถึงที่สุด โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ (United Nations General Assembly) ที่นิวยอร์ก อิมราน ข่าน (Imran Khan) นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ได้เรียกร้องเสียงสนับสนุนจากนานาชาติ

“ถ้าการทำสงครามด้วยกำลังทหารเกิดขึ้นระหว่างสองประเทศ อะไรก็เกิดขึ้นได้” นายกรัฐมนตรีปากีสถานกล่าว “ถ้าประเทศที่มีขนาดเล็กกว่าเพื่อนบ้านถึง 7 เท่ามีสองทางเลือก หากไม่ยอมแพ้ ก็ต้องสู้เพื่ออิสรภาพจนตัวตาย เราจะทำอย่างไร”

และ “เมื่อชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์สู้กันให้จบสิ้นไปข้างหนึ่ง ผลกระทบจะออกนอกพรมแดนไปไกลมาก”

มีการประมาณตัวเลขว่า หากทั้งสองชาติผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์นำมาตราการสุดท้ายมาห้ำหั่นกัน จะมีผู้เสียชีวิตมากถึง 125 ล้านคน

ทีมค้นคว้าจากมหาวิทยาลัย Rutgers University-New Brunswick กล่าวถึงตัวเลขเพิ่มเติมว่า นอกจากการสู้รบในสงครามโดยตรงแล้ว อาจมีผู้คนอีกราว 100 ล้านต้องเสียชีวิตจากผลกระทบที่ตามมา โดยทีมคาดว่า การเพาะปลูกจะลดลง 20-30 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผลผลิตจากท้องทะเลลดลง 5-15 เปอร์เซ็นต์ ทั้งสองปัจจัยนี้จะทำให้เกิดภาวะอาหารขาดแคลนอย่างหนัก เศรษฐกิจล่มสลาย ประชากรโลกและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ล้มตาย และต้องใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะฟื้นฟูทุกอย่างกลับมาได้

“มีประเทศผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อยู่ 9 ประเทศ แต่อินเดียและปากีสถานเป็นสองชาติที่เพิ่มจำนวนอาวุธของตัวเองอย่างรวดเร็ว” อลัน โรบ็อค (Alan Robock) ศาสตราจารย์พิศิษฐ์จากภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจาก Rutgers University-New Brunswick กล่าว

“เพราะความขัดแย้งระหว่างสองชาติที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่แคชเมียร์ มันสำคัญที่จะต้องเข้าใจผลกระทบจากสงครามนิวเคลียร์”

โรบ็อคประมาณไว้ว่า ในปี 2025 จำนวนอาวุธนิวเคลียร์ของทั้งสองประเทศจะรวมกันอยู่ที่ 400-500 ลูก แต่ละลูกมีแรงระเบิด 15 กิโลตัน โดยบรรจุ TNT 15,000 ตัน หรือขนาดพอๆ กับ ‘Little Boy’ ระเบิดนิวเคลียร์ที่สหรัฐทิ้งใส่ฮิโรชิม่าในปี 1945

เหตุการณ์สมมุติสุดร้ายแรงคือ หากอินเดียยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ 100 ลูก และปากีสถาน 150 ลูก จำนวนผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 50-150 ล้านคน

ภาวะอดอยากครั้งใหญ่คือมหันตภัยใหญ่หลวง เนื่องจากแรงระเบิดจะทำให้เกิดเขม่าควัน 16-35 ล้านตัน ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ความร้อนจะทำให้เขม่าปกคลุมท้องฟ้ายาวนาน แสงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังผิวโลกหายไป 20-35 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิลดต่ำกว่าเดิม 12-15 องศาเซลเซียส การเจริญเติบโตของพืชลดลง 5-15 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณอาหารไม่เพียงพอ สุดท้ายโลกอาจเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้ง

“สงครามแบบนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายเฉพาะพื้นที่เป้าหมายของระเบิด แต่เป้าหมายของมันคือทั้งโลก” โรบ็อคให้สัมภาษณ์กับ Newsweek “ถ้าอาวุธเหล่านี้มีอยู่ มันก็สามารถถูกนำมาใช้ได้ และความขัดแย้งที่ยังดำเนินต่อไปที่แคชเมียร์ก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะยกระดับไปถึงขั้นนั้น”

อย่างไรก็ตาม โรบ็อคก็ทิ้งท้ายว่า แม้สงครามจะไม่จบลงที่โลกต้อง ‘เย็น’ จนถึงจุดเยือกแข็ง แต่สงครามระหว่างสองชาติที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ก็อาจเปลี่ยนโฉมจากการรบด้วยกำลังทหารเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่ก็ได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
newsweek.com

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า