กูเป็นนักศึกษา

เรื่อง: ณัฐกานต์ อมาตยกุล / ภาพ: อนุช ยนตมุติ

เสียงประสานคนหนุ่มสาวในอาคารไม้กลางป่าเขา เคล้าเสียงนกและใบไม้โบกไหว

“หมั่นเพียรเรียนเพื่อสร้างหนทางชีวี  เธอสุขศรีไม่มีทุกข์ตรม

อยากมีอนาคตสดใสรื่นรมย์ เธอหวังเพียงเท่านั้นฤา”[1]

‘การเมืองกับนักศึกษา’ หนึ่งภาพติดตาเมื่อวลีนี้ผุดขึ้นคงหนีไม่พ้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่รายล้อมไปด้วยชุดเครื่องแบบนักศึกษาขาวโพลน คนหนุ่มสาวเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนสังคม ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่ในยุคที่เสรีภาพหอมหวนและผลิบาน สถานะของนักศึกษาเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ไม่ว่าจะเห็นภาพนั้นผ่านทางโปสการ์ด ภาพแขวนผนัง นิทรรศการ หรือรายการสารคดีย้อนรำลึกเหตุการณ์ทางการเมืองในโทรทัศน์ ที่มีรายละเอียดพร่าเลือน ออกโทนสีขาวดำ สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงว่า ภาพเหล่านี้คือ ‘อดีต’

บางส่วนของนักศึกษาที่เคยมีส่วนร่วมทางการเมืองเมื่อครั้ง ‘อดีต’ เคยออกมาตั้งข้อสังเกตที่น่าหดหู่ใจว่า คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยใส่ใจสังคมเท่าที่ควร พูดสั้นๆ ง่ายๆ ว่า พลังนักศึกษานั้นตายแล้ว…จากนั้นก็พ่นควันบุหรี่ออกมาช้าๆ ก้มหน้าส่ายหัว คิดถึงคืนวันเก่าๆ ที่ประกายไฟของคนหนุ่มสาวยังลุกโชน หรือไม่บางคนก็อาจบอกว่า อย่าได้เชิดชูความบริสุทธิ์ผุดผ่องของการเป็นนักศึกษามากนัก พวกเขาก็แค่คนกลุ่มหนึ่งที่สามารถเลือกฝั่งฝ่ายได้เสมอ

อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้มุมมองเกี่ยวกับขบวนการนักศึกษาไว้ในนิตยสาร WAY ฉบับที่ 37 ว่า “บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ นั้นเป็นศัตรูกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เป็นบรรยากาศที่ไม่ได้เอื้อในการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก แน่นอนอาจมีบ้าง แต่มันไม่ใช่ขบวนการทางการเมืองขนาดใหญ่ที่นักศึกษาเป็นผู้นำเหมือนในอดีต มีแค่การต่อสู้ที่เป็นประเด็นเฉพาะ อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือสิทธิสตรี”

เท่ากับว่าบทบาทการเป็นแกนนำของนักศึกษาส่วนหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ  ถูกโยกย้ายถ่ายเทไปสู่ประเด็นทางสังคมอื่นๆ มากกว่าการชูธงสัญลักษณ์ประชาธิปไตยและพลังมวลชนขึ้นมาเป็นหลักเหมือนสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขื่อน คัดค้านการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย ซึ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่คนทั้งประเทศต้องเผชิญ จึงทำให้เราไม่อาจสรุปได้ว่า นักศึกษารุ่นใหม่ ‘ทอดทิ้ง’ สังคมไว้ข้างหลังเหมือนที่ใครบางคนตั้งสมมุติฐานขึ้นมา

(จากซ้ายไปขวา) ตาวัน รัตนประภาพร, ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ, รังสิมันต์ โรม และ รัฐพล ศุภโสภณ

บรรยากาศระอุร้อนในช่วงบ่ายวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 ถูกคั่นจังหวะโดยป้ายผ้าสีดำขนาดใหญ่ที่แผ่ปกคลุมกลุ่มคนเสื้อชมพูและเสื้อแดงบนอัฒจันทร์ ข้อความสีขาวบนป้ายผ้าสร้างความรู้สึกต่างๆ นานาให้คนแต่ละกลุ่ม ; ฉงน งุนงง ตกใจ โกรธเคือง ขำขัน หรือแม้แต่สะใจ

เพื่อขจัดข้อสงสัย…สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในกำหนดการพิธีเปิดของมหาวิทยาลัยใด แต่เป็นรูปแบบการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (Chulalongkorn Community for the People: CCP) และกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (Liberal Thammasat for Democracy: LLTD) นิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งของทั้งสองสถาบันผู้จัดงาน

“LLTD เรามีชีวิตที่เป็นนักศึกษาปกติ เพราะฉะนั้นคนในแวดล้อมเราก็ไม่ใช่ว่าจะสนใจทางการเมืองหมด เราเจอคนที่เห็นต่างหรือมองว่าเรารุนแรงไป เพราะเรามีการแสดงออก ในขณะที่หลายๆ คนกลับเงียบ… เพราะฉะนั้นเราถูกมองเป็นเสื้อแดง แต่เรารู้ว่าเราเป็นอะไรและทำอะไรอยู่ นั่นคือสิ่งสำคัญกว่า” รังสิมันต์ โรม นักศึกษาคณะนิติศาสตร์กล่าวด้วยท่าทีหนักแน่น ข้างๆ เขาคือตัวแทนกลุ่มอีก 3 คนซึ่งมาจากต่างคณะ และมีวิธีการสะท้อนตัวตนคนละแบบ

รัฐพล ศุภโสภณ ตัวแทนกลุ่มอีกคนชี้แจงกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม “ในงานบอล โดยส่วนตัวไม่ได้คิดว่าเป็นการป่วนเพื่อก่อความวุ่นวาย การที่เราเข้าไปป่วนวัฒนธรรม (Cultural Jamming) ก็เพื่อทำให้คนรู้ว่าเรื่องนี้มันใหญ่แค่ไหน มันสำคัญแค่ไหน เมื่อมันเป็นปัญหา ก็ไม่ควรซุกไว้ใต้พรม”

ก้าวพ้นยุคสมัยที่ยึดติดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรือใช้ประเด็นทางการเมืองแบบขาว-ดำเป็นเชื้อเพลิงในการต่อสู้ เช่นเดียวกันพวกเขาไม่ได้ยกวาทะศักดิ์สิทธิ์ของอดีตผู้นำนักศึกษาคนใดมาสนับสนุนเหตุผลการเคลื่อนไหว แต่กลับเป็นคำพูดของผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง เป็นเอก รัตนเรือง ที่ว่า

สังคมที่ยังไม่ตาย ต้องเป็นสังคมที่คุณมีเสรีภาพในการพูด มันจะมีความขัดแย้ง แต่มันจะไม่ถึงกับฆ่ากัน ส่วนสังคมที่ตายแล้วคือสังคมที่สงบนิ่งเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

คำพูดเพียงสั้นๆ แต่ทำให้หลายคนชะงัก แล้วทบทวนความคิดตัวอยู่อย่างเงียบๆ

ถึงแม้กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยอาจเพิ่งเป็นที่รู้จักในสายตาของคนภายนอกจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่พวกเขาเคลื่อนไหวในประเด็นอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่องยาวนานแล้ว เช่น ร่วมจัดนิทรรศการการเมืองประจำปีในมหาวิทยาลัย การออกมาประท้วงมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ห้ามไม่ให้คณะนิติราษฎร์ใช้สถานที่ในการจัดงานเสวนา ส่วนประเด็นที่มหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบ พวกเขาได้ประสานงานกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ในการนำเสนอทิศทางของร่างพระราชบัญญัติและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของนักศึกษาต่อประเด็นนี้

“ผมคิดว่าเราก้าวหน้ามากในเรื่องมหาวิทยาลัยนอกระบบ เราอาจจะต่างจากนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่น เพราะเรายังยอมรับการออกนอกระบบในระดับที่พอรับได้ ทั้งนี้เราต้องหาวิธีที่จะทำให้ทางผู้ใหญ่กับเราอยู่ในจุดที่ประนีประนอมและทำงานร่วมกันได้” รังสิมันต์เล่าประสบการณ์ที่เขาได้เข้าไปยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติฯในรัฐสภา และเห็นว่าแนวโน้มในการรับฟังของผู้ใหญ่เป็นไปในทางบวก

ยุทธวิธีสำคัญในการแสดงออกเรื่องการเมืองของพวกเขา คือ การยืมพื้นที่สื่อกระแสหลัก ลบภาพการชุมนุมประท้วงแบบเดิมๆ ที่จำเจ แล้วเข้าหาแนวทางที่ดึงดูดความสนใจจากผู้คนมากกว่า เช่น การแต่งตัวคอสเพลย์เป็นคณะราษฎรที่ 2 กิจกรรมที่ดูป๊อปๆ แต่สอดไส้สาระสำคัญที่ตั้งใจจะสื่อ เนื่องในโอกาสรำลึก 80 ปี 24 มิถุนายน 2475 แต่มิใช่เพียงเสื้อผ้า- พวกเขายังสวมบทบาทสมมติเพื่อสะท้อนเรื่องเคร่งเครียดของสังคมให้มีสีสัน

“คนสมัยนี้จะติดภาพว่าพลังนักศึกษาต้องออกมาเดินขบวนหรือเข้าป่า แต่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว การต่อสู้จะเข้าไปอยู่ในโซเชียลเนตเวิร์กซึ่งเป็นสื่อกระแสหลักแทน” ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ อีกหนึ่งตัวแทนจาก LLTD ชี้ให้เห็นวิถีทางใหม่ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ภาพลักษณ์ใหม่ของการเมืองนักศึกษาสะท้อนออกมาจากตัวตนของเธอ ที่มีความเป็นสาวน่ารักและทันสมัย แต่ระมัดระวังการพูดจาในทุกคำพูดเสมอ เธอตระหนักในเป้าหมายใหม่ที่ไม่ใช่การต่อสู้กับเผด็จการอย่างในอดีต “นักศึกษาทุกวันนี้ต่อสู้กับลักษณะสังคมปิด ซึ่งไม่มีความอดทนอดกลั้นมากพอกับความคิดเห็นที่แตกต่าง”

“มีคนที่ไม่เห็นด้วยใช้ความรุนแรงกับเรา เราต้องการให้คนในสังคมเข้าใจและรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองเมื่อเห็นคนที่คิดต่างตรงหน้าเขา เพราะนี่มันเป็นมาตรฐานในการอยู่ร่วมกัน” รัฐพลยืนยันเป้าหมายสำคัญที่ทำให้เขาเข้ามาร่วมกลุ่ม

ตาวัน รัตนประภาพร สมาชิก LLTD ผู้พูดน้อยที่สุดกล่าวสำทับ “มันเป็นเรื่องความอดทนอดกลั้น ถึงเขาไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ของเรา อย่างน้อยเขาก็รับรู้ว่ามีคนที่คิดตรงกันข้ามกับเขาในประเทศนี้ ให้สังคมมีพื้นที่ให้กับคนที่คิดต่างออกไปจากกระแสหลักบ้าง”

รังสิมันต์ประสานมือเข้าด้วยกัน เขาเสนอความคิดเห็นแหวกออกไปจากเพื่อนร่วมกลุ่ม “แต่สำหรับผม ผมต่อสู้กับความอยุติธรรมที่อยู่ตรงหน้านะ” แววตาเคร่งขรึมใต้กรอบแว่นย้ำชัดถึงเจตนาตามคำพูด

รังสิมันต์ โรม

ในฐานะผู้ที่คลุกคลีอยู่กับกลุ่มของนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย อดีตนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัยบูรพาอย่าง ปกรณ์ อารีกุล มองว่ากลุ่มพลังนักศึกษาในปัจจุบันอาจแบ่งเป็น 3 ลักษณะใหญ่ ๆ  ได้แก่ กลุ่มทำค่ายอาสาพัฒนา เน้นการทำค่ายตามแนวทางสังคมสงเคราะห์ กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มศึกษานโยบายที่มีผลกระทบต่อท้องถิ่น เน้นมองปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การใช้อำนาจทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง มุ่งความสนใจหลักไปที่ความไม่เป็นธรรมในภาพใหญ่ของระบบการเมือง การแบ่งดังกล่าวเป็นเพียงการพิจารณาภารกิจหลักของกลุ่ม แต่ในความเป็นจริง ทุกๆ กลุ่มทำงานความเชื่อมโยงกัน และมีการสลับบทบาทตามสถานการณ์

กระนั้นก้าวแรกของนักกิจกรรมส่วนใหญ่ มักเริ่มจากการลิ้มรสประสบการณ์ค่ายอาสา เปิดหูเปิดตาสู่ชีวิตที่แตกต่างจากวิถีปกติของตน แล้วเริ่มตั้งคำถาม – เหตุใดคนไม่เท่ากัน และจำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นหรือไม่

ไม่ผิดถ้าจะมองว่านักศึกษาเป็นเพียงประชาชนกลุ่มหนึ่งในระบบการเมือง แต่ก็ไม่ถูกนักที่จะเมินเฉยต่อความเคลื่อนไหวของพวกเขา วันคืนที่เสียงของนักศึกษาเป็นสิ่งที่น่าศรัทธาอาจเลือนจางไปแล้ว เพราะสมัยนี้ผู้คนมักสำแดงตนว่าเป็นผู้รู้แจ้งรู้จริงอยู่เกลื่อนเฟซบุ๊ค

“เรามีความตรงไปตรงมาแบบวัยรุ่น ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นปัญญาชน ผู้ใหญ่ที่ไม่มีวุฒิภาวะจะมองว่าเราเป็นเด็กและไม่น่าฟัง แต่สิ่งที่เราควรคิดและตระหนักไว้เสมอ คือ เขาพูดอะไร อย่าสนใจว่าเขาคือใคร …ผู้ใหญ่ที่เคยอยู่ในจุดเดียวกับเรา ณ ขณะนั้น เขาก็คงไม่คิดว่าเขาคือเด็ก” รังสิมันต์ชี้ให้เห็นสถานะของนักศึกษาตามทัศนะของเขา รัฐพลกล่าวเสริมว่า “การที่บอกว่านักศึกษาใส่เสื้อสีขาว ไม่ควรจะเอาไปแปดเปื้อน จริงๆ ควรจะเลิกวาทกรรมนี้ได้แล้ว เพราะเด็กก็ควรจะมีความคิดเห็นของตัวเอง”

ในกรณีการทำค่ายอาสา ลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน การเข้าไปในฐานะนักศึกษา ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไว้วางใจพวกเขามากกว่า และพร้อมจะให้ข้อมูลและการต้อนรับที่อบอุ่น ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยในเจตนาที่แสดงออกในภาพ ‘ผู้ให้’ แบบองค์กรภาครัฐหรือกลุ่มธุรกิจใจบุญทั่วๆ ไป

กลุ่มอาสากลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปิดเล่มตำราเรียน การออกค่ายอาสา อาจเป็นจุดเปลี่ยนให้เด็กเรียนคนหนึ่งกลายเป็นนักกิจกรรมเต็มตัว กลุ่มอาสากลางมีภารกิจหลักจัดค่ายอาสา 4 ค่ายต่อปี มีความเข้มข้นตั้งแต่ระดับ ก้าวย่าง/เรียนรู้/สร้าง เข้าไปสัมผัสชีวิตคนในท้องถิ่นด้วยสายตาของคนที่พร้อมศึกษาปัญหาของชุมชน มิใช่เพียงชื่นชมสายลมแสงแดด พวกเขาพูดคุย ถามไถ่ทุกข์สุข และพร้อมช่วยเหลือในจุดที่ชาวบ้านต้องการ – แตกต่างจากอาสาพัฒนาสำเร็จรูป

ยกตัวอย่างการออกค่ายที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกค่ายได้ซึมซับบรรยากาศความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่อย่างเต็มที่ สอนภาษาอังกฤษให้เด็ก ปูกระเบื้อง จัดการน้ำ ฯลฯ ตามแต่ชาวบ้านจะวานให้ทำ ธรรมนิจ ศุภกิจเจริญ ประธานกลุ่มยังมองด้วยว่า การที่นักศึกษาได้มาผูกสัมพันธ์กับแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะนำไปสู่การสลายอคติที่เคยมีต่อพวกเขา ความเห็นอกเห็นใจในสังคมก็เกิดขึ้น

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ เกมวิชาการก่อนออกค่าย ชาวค่ายจะต้องแบ่งกลุ่มแล้วช่วยกันออกแบบชุมชนในฝัน หลังจากความพยายามและความหวังกางออกเต็มหน้ากระดาษ โดยไม่คาดคิดมาก่อน พวกมันจะถูกฉีกทำลาย – เพื่อให้พวกเขาได้สัมผัสอารมณ์สูญเสียด้วยตัวเอง แม้จะเป็นแค่แผ่นกระดาษ แต่เหตุการณ์สมมติก็สะท้อนความรู้สึกชาวบ้านได้ในระดับหนึ่ง

เมื่อค่ายสร้างคนให้ใส่ใจปัญหาของชุมชน จึงไม่น่าแปลกใจว่านอกจากบทบาทในการจัดค่าย สมาชิกในรุ่นก่อนๆ ก็เคยมีส่วนในการรณรงค์ต่อต้านโครงการรัฐที่กระทบความเป็นอยู่ของประชาชน อย่างการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่จังหวัดแพร่ ซึ่งรัฐบาลคิดจะนำมาใช้แก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย

กลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา

หลังจากนิสิตกลุ่มหนึ่งได้พบปัญหาชุมชนในภาคตะวันออกด้วยตัวเอง พวกเขาคิดว่าแค่รับรู้ยังไม่พอ แต่ต้องสามารถช่วยเหลืออย่างจริงจัง ก่อเกิดกลุ่ม ‘ลูกชาวบ้าน’ ซึ่งไม่ได้เป็นชมรมสังกัดมหาวิทยาลัย แต่อาศัยบ้านหลังหนึ่งเป็นแหล่งรวมกลุ่มกันรังสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับคนในท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น การออกค่ายที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งได้รับงบสนับสนุนจากมูลนิธิโกมล คีมทอง พวกเขาไปกินอยู่กับชาวประมง ศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน ลงเรือเพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตในท้องทะเลเป็นเวลาร่วมสัปดาห์ และสำรวจพบปัญหาเบื้องต้น เช่น การที่เรืออวนขนาดใหญ่เข้ารุกล้ำเรือประมงพื้นบ้าน ราคาผลผลิตที่ตกต่ำ จากนั้นจึงช่วยกันเผยแพร่ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2490 ตามสื่อต่างๆ เพื่อปกป้องสิทธิ์ให้ชาวบ้าน

สุรินทร์ ปัทมาสศนุพงศ์ สมาชิกกลุ่ม มองว่ากิจกรรมค่ายจะเน้นไปที่พื้นที่ในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นบริบทที่นิสิต ม.บูรพา มีความเข้าใจอยู่แล้ว และถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรู้จักพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ให้ดีก่อน แทนที่จะไปเริ่มนับหนึ่งในพื้นที่ห่างไกล และไม่เข้าใจปัญหาเพียงพอ

นอกจากกิจกรรมค่าย สมาชิกกลุ่มมักไปร่วมเป็นกำลังเสริมให้ม็อบชาวนาและม็อบแรงงานในการเรียกร้องสิทธิแรงงาน เช่น ที่ย่านอุตสาหกรรมอ้อมน้อย นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ไม่เพียงแต่ทำให้การเคลื่อนไหวดูมีพลังมากขึ้น แต่ยังเป็นโอกาสให้นิสิตได้พูดคุยกับกลุ่มแรงงานอย่างใกล้ชิด และสามารถเป็นปากเสียงแทนได้โดยไม่กระดากใจ เพราะเขาได้เข้าไปเห็นความทุกข์ร้อนที่ว่ามาแล้วจริงๆ พวกเขาเดินหน้าเผยแพร่ข้อมูลสิทธิแรงงาน ผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มของแรงงานที่ถูกกดขี่กลุ่มอื่นๆ ต่อไป

ประเด็นสิทธิทางการศึกษาของนิสิตก็เป็นอีกประเด็นที่พวกเขาไม่อาจเพิกเฉย เช่น ปัญหาค่าเทอมบางคณะที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังจากออกนอกระบบ ปัญหาสวัสดิการนิสิตต่างๆ โดยจัดเวทีเสวนา ยื่นคำแถลงการณ์ต่ออธิการบดี แม้จะมีนิสิตกลุ่มอื่นไม่เห็นด้วย แต่กลุ่มลูกชาวบ้านเชื่อว่าพวกเขาทำในสิ่งที่นิสิตนักศึกษาควรทำ

ในอีกมุมหนึ่ง นักกิจกรรมแห่งกลุ่มลูกชาวบ้านก็มีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก พวกเขามองเห็นว่าปัญหาในเชิงโครงสร้าง ก็ถือเป็นต้นตอหนึ่งของความเหลื่อมล้ำทั้งหลาย จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อมีการชุมนุมทางการเมือง บ่อยครั้งจะมีกลุ่มลูกชาวบ้านเป็นหนึ่งเสียงในพลังเหล่านั้นด้วย

กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน CCP

ก่อตั้งในปี 2553 ในช่วงการเมืองไทยกำลังคุกรุ่น ก่อนหน้าจะเปลี่ยนมาเป็นรูปจรวดกระดาษ สัญลักษณ์รูปกำปั้นดุดันสีแดงสดอาจข่มขวัญนิสิตหลายคนที่ยังไม่ชินกับการแหวกขนบและบางครั้งคิดไปว่า CCP คือพวกเด็กเกเรที่ตั้งคำถามกับทุกสิ่ง ไม่เว้นแม้กระทั่งประเพณีที่มีสืบต่อกันมานานในสถาบัน หากแต่มีอะไรมากกว่าการชูป้ายแสดงตนให้คนรู้ว่าพวกเขาคิดต่าง

กิจกรรมหลักของ CCP คือการเปิดพื้นที่ให้นิสิตได้มาคุยเรื่องการเมืองและสังคมกันแบบมีเหตุมีผล แม้จะไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นชมรมอย่างเป็นทางการด้วยเหตุผลที่ยังเป็นปริศนา แต่ CCP มีการนัดชุมนุมกลุ่มอย่างจริงจังทุกๆ เดือน ณ สถานที่ซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามความสะดวก สมาชิกจะนำประเด็นที่สนใจมาเสนอและนำไปสู่การพูดคุยโต้เถียง เพื่อให้เห็นว่าคำตอบของแต่ละคนไม่ใช่คำตอบเดียวที่มีในโลก พวกเขาหมั่นจัดงานเสวนาในประเด็นร้อนให้นิสิตและบุคคลทั่วไปได้เข้ามาฟังและแลกเปลี่ยนมุมมองกับวิทยากร เช่น ประเด็นเครื่องแบบนิสิต ความจำเป็นในการจัดงานฟุตบอลประเพณี และเรื่องความรักที่ล้นเกินในสังคมไทย บางครั้งก็จัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ตามด้วยการเสวนากันพอกล้อมแกล้ม ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับการเมืองด้วยซ้ำ เพียงแต่มันมักจะนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจ

โซตัส (SOTUS) ในระบบการศึกษาเป็นประเด็นหลักที่ CCP มุ่งรณรงค์ในขณะนี้ เพราะเห็นว่านิสิตไม่ได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อฝึกวินัยเป็นทหาร แต่ควรมีอิสระทางความคิดที่ปลอดจากอายุ ชั้นปี หรือตำแหน่งนาย-ลูกน้อง ทั้งนี้เพราะในที่สุด แนวคิดโซตัสจะฝังรากลึกไปกับบัณฑิต และเคยชินกับการลงทัณฑ์ทางสังคม ซึ่ง CCP มองว่ามันคือปัญหาใหญ่ที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันไม่ได้

พวกเขาบอกว่า “สิ่งที่เราทำคือธำรงความแตกต่างให้มีอยู่” แม้แต่ความแตกต่างภายในกลุ่มเอง เมื่อไร้แกนนำ กิจกรรมทุกอย่างจึงมาจากการตกลงร่วมกันของสมาชิก และไม่ว่าใครที่สนใจความเป็นไปของสังคมและการเมือง จะรู้ตื้นลึกหนาบางแค่ไหน จุดยืนทางการเมือง (ถ้ามี) จะออกโทนสีอะไร แต่ถ้ายอมรับในความไม่เหมือนกันของแต่ละคนได้ พวกเขาบอกว่ายินดีต้อนรับ

“เสรีนิยมไม่ใช่การปฏิเสธสิ่งเก่าๆ แต่คือการยอมรับความคิดคนอื่น โดยไม่บังคับให้ใครมาเห็นด้วย หรือทำตาม” อภิณัฐ ภู่ก๋ง ตัวแทนกลุ่มกล่าว “ผมคิดว่าการที่มีคนแบบนี้เพิ่มขึ้นจากการจัดกิจกรรมของกลุ่ม มันก็มีประโยชน์ต่อสังคมแล้ว”

 

กลุ่มพลังนักศึกษามิได้มีจำนวนเพียงเท่าที่กล่าวอ้างขึ้นข้างต้น ในหลายสถาบันทั่วประเทศต่างก็มีพลังเหล่านี้ขับเคลื่อนสังคมไปด้วยเสมอ เช่น กลุ่มนกกระจอก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กับกรณีต่อต้านการศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานของ Chevron ในอ่าวไทย กลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อต้านการสร้างเหมืองแร่โปแตซ ในจังหวัดเดียวกับพวกเขาอาศัยและเล่าเรียน และยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่แม้จะไม่เด่นดัง  แต่ก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการยืนหยัดต่อสู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับคนในพื้นที่

อาจดูเหมือนพลังนักศึกษากระจายออกเป็นเอกเทศ แต่ในความเป็นจริง กลุ่มที่มากมายเหล่านี้มีเครือข่ายความสัมพันธ์เชื่อมกัน และออกมาร่วมแสดงพลังในประเด็นที่คิดเห็นตรงกัน เช่น ต่อต้านมหาวิทยาลัยนอกระบบ ชุมนุมร่วมกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานในวันแรงงาน จัดกิจกรรมรำลึกงาน 6 ตุลา ความสามัคคีมีขึ้นได้ แต่พวกเขาไม่ละเลยที่จะเปิดพื้นที่ให้ความแตกต่าง ไม่ยึดติดกับการมีองค์กรนักศึกษาที่อาจบังคับให้การแสดงพลังของ ‘คนเสื้อขาว’ ว่าต้องเป็นไปในทางเดียวกันหมด ปกรณ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า พวกเขาทำงานกันด้วยมิตรภาพมากกว่าการมีโครงสร้างที่ตายตัว ซึ่งนั่นจะทำให้การทำงานยั่งยืนกว่าและมีความหมาย

ชีวิตการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยอาจจบลงพร้อมกระดาษใบหนึ่ง พิมพ์ชื่อตัวบรรจงเอาไว้ลูบคลำระลึกความหลัง อดีตนักกิจกรรมอาจกระจัดกระจายไปทำงานในองค์กรต่างๆ ซึ่งอาจรวมถึงองค์กรที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยต่อต้าน แต่ในขณะเดียวกัน มีนักศึกษาอีกหลายชีวิตที่ยังพยายามประนีประนอมกับหลักการของตัวเอง เข้าไปทำงานกับองค์กรเอ็นจีโอ สื่อสารมวลชน หรืออาชีพใดๆ ก็ตามที่เปิดโอกาสให้เขาได้สานต่อภารกิจเดิม บางส่วนร่วมกันจัดตั้งกลุ่มในนาม ‘พรรคสามัญชน’ ประกอบด้วยอดีตนักศึกษาหลากหลายสถาบัน เพื่อกลับมาพบปะ ทบทวนความคิดทางการเมืองและสังคมร่วมกัน เพื่อให้มั่นใจว่าการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคไม่ใช่เรื่องที่โดดเดี่ยวจนเกินไป

เสียงเพลงแผ่วเบาทิ้งท้ายก่อนเข้านอน “มองดูรอบกาย มองดูสังคม เธอสุขได้อย่างไรเมื่อผองชนทุกข์ยากลำเค็ญ”

เมื่อกองไฟมอดลงในยามค่ำ ชาวค่ายยุติกิจกรรมที่มีร่วมกันมาทั้งวัน ก็ไม่แน่ว่าในหัวของใครคนหนึ่งยามหนุนหมอน เสียงแว่วแผ่วบางของเพลงค่ายจะยังคงเล่นซ้ำอัตโนมัติอย่างไม่มีสิ้นสุด

  • [1] จากเพลง เธอวันนี้ ของวงนางนวล
  • ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY 62 ปี 2556 เผยแพร่บน waymagazine.org ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2557

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า