เสียงกีตาร์ในวันธรรมดาของ อาบู

DSC_8507

 

เรื่อง: สันติสุข กาญจนประกร

ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

 

 อาบู-ยุวบูรณ์ ถุงสุวรรณ เป็นชายวัย 40 เศษ ไม่มีอาชีพ กล่าวให้ตรงกว่านั้น ภารกิจประจำวันของอาบูมีเพียงช่วยภรรยาจัดร้านขายเสื้อที่ถนนข้าวสาร และรับส่งลูกไปโรงเรียน

ส่วนการเล่นกีตาร์กับร้องเพลง อาบูไม่ได้ทำเป็นอาชีพ แต่ทำเพราะอยากทำ

“ผมเขียนเพลงเพราะต้องการพูดคุยกับตัวเอง เหมือนเป็นการบำบัด” เขาว่า

หากเปรียบเป็นสี เพลงที่อาบูร้องและเล่นคงคล้ายถูกย้อมด้วยสีเทา แต่ละเพลงที่เขียนเอง กระทั่ง นำมาคัฟเวอร์ลงในเพจเฟซบุ๊ค R-bu acoustic ballads รวมถึงในเว็บไซต์ยูทูบ ให้อารมณ์หม่นเศร้า จากที่ตั้งเพจขึ้นใหม่ๆ ด้วยจำนวนคนที่มากดไลค์ในหลักสิบ ตอนนี้ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 6,000 กว่า – มากันแบบปากต่อปาก

เพลงของอาบูเศร้า แต่เป็นความเศร้าที่มีพลัง หรือแท้จริงแล้ว ชีวิตคนล้วนเต็มไปด้วยความขาดพร่องและเว้าแหว่ง หากสมมุติฐานนี้เป็นจริง บางทีเสียงเพลงของเขาคงต้องการสื่อสารกับคนฟังว่า หากชีวิตมันเศร้านัก ก็ใช้พลังจากความเศร้านี่แหละ รักษามัน

1.

หลังการสนทนา…

อาบูเดินนำเราขึ้นไปยังห้องบนชั้น 2 ของบ้านที่เขาใช้บันทึกเสียง ห้องอัดที่มีแค่ กีตาร์ ไมโครโฟน และเก้าอี้ 1 ตัว เขานั่งลง ก่อนเริ่มต้นเล่นเพลงที่เขียนขึ้นเอง ฉันคือต้นไม้ นี่คือบางท่อนจากเพลง

ไม่เคยร้องขอสิ่งใด…

เป็นเพียงต้นไม้ต้นหนึ่ง…

ในจำนวนต้นไม้ที่ไม่อาจคะเนถึง…

จึงเพียงดำรงตนแค่หยัดยืน…

2.

ระหว่างการสนทนา…

‘ใครไม่รู้…เล่าเรื่อง-ร้องเพลง…ให้ใครไม่รู้ฟัง…’ คือคำอธิบายในเพจเฟซบุ๊คของอาบู เขาบอกว่า ‘ใครไม่รู้’ เป็นคำที่มีความหมายมาก

“ใครไม่รู้ ทำอะไรก็ได้ ไปไหนมาไหนก็ได้ แต่สิ่งที่เรารู้ คือเราเป็นใคร และเราก็ทำสิ่งนั้น ผมอยากเป็นใครไม่รู้ มากกว่าอยากเป็นใครที่คนรู้จัก…ผมจึงเลือกชีวิตปกติแบบนี้ของผมดีกว่า มีโอกาสทำในสิ่งที่อยากทำ ใครผ่านมาเจอก็ได้ฟัง ผมคิดว่าการที่จะทำให้งานเผยแพร่ออกไปได้ คือการทำโลกรอบๆ ตัวให้มันน่าอยู่ คุณมาเจอผม คุณชอบ คุณไปบอกเพื่อนคุณ ก็แค่นี้แหละครับ”

ชีวิตปกติของอาบูหมายความตรงตัว คือ ช่วยภรรยาจัดร้านขายของ รับลูก สอนการบ้านลูก

“วนอยู่แค่นี้ จะมีช่วงเวลาสั้นๆ ตอนบ่ายระหว่างรอลูกเลิกเรียน ที่ใช้นั่งเขียนอะไรไป บางทีก็เขียนเพลงข้างถนนโดยไม่มีกีตาร์ พอกลับมาบ้าน ช่วงหัวค่ำก็พอได้นั่งทำเพลง ไม่มีอะไรพิเศษที่น่าสนใจ”

ส่วนใครจะตีความว่าชีวิตปกติหมายถึงไม่ฝักใฝ่ชื่อเสียงก็ตามสะดวก และนี่ไม่ได้โรแมนติกฟุ่มเฟือยหรือพูดเอาเท่ ก็แค่มันไม่ถนัดทางนั้น

มันยุ่งยาก – อาบูพูดชัดๆ ชอบเล่น ชอบร้อง ก็ทำ ใครผ่านมาพบ เคมีตรงกัน ก็ได้พบปะและรู้จักผ่านเสียงเพลง

“ไม่รู้สึกอะไร? ถ้าเนื้อเพลงที่เขียน ที่ร้อง จะมีคนรับรู้อยู่ในวงจำกัด” เราถาม

“ไม่” เขาตอบชัดเจน “เพลงมันเสร็จตั้งแต่ผมเขียนเสร็จแล้ว ใครมีโอากาสได้ยิน ชอบหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องเกินความสามารถ ถ้ามีคนชอบ ผมเป็นมนุษย์ปกติ ก็ดีใจ ไม่ปฏิเสธ แต่ไม่ได้คิดว่าเขียนเพลงเพื่อให้คนชอบ”

ไม่ถนัดทำตัวเป็นนามบัตร คืออีกคำตอบที่ฟังแล้วแสบยิบๆ

“ในการทำให้เกิดชื่อเสียง ต้องเอาตัวเข้าไปแลก ผมอยู่เฉยๆ ไม่มีใครรู้จักผมหรอก ถ้าอยากมีชื่อเสียง ผมก็ต้องไปสถานที่ที่มีคนเห็น แล้วสถานที่แบบนั้น มันทำให้ชีวิตผมสูญเสียความเป็นปกติ ตอนเช้าส่งลูกไปโรงเรียน นั่นคือความสุขของผม ช่วยแฟนตั้งร้าน นั่นคือความสุขของผม”

DSC_8428

ในทัศนะของอาบู เขาบอกว่า คนทำงานศิลปะจริงๆ ไม่ควรออกไปไหนด้วยซ้ำ ควรอยู่กับที่ อยู่กับตัวเอง ส่วนเรื่องการโปรโมตผลงาน มันคนละหน้าที่

“ถ้าศิลปินออกไปทำงานนั้นเมื่อไหร่ พลังในการทำงานลดลงแน่นอน เพราะจะถูกแรงปะทะจากข้างนอก อย่างการต้องออกไปงานบางงาน ซึ่งต้องมีคอนเซ็ปต์ ถามว่าเราอยากทำงานนั้นไหม แต่เพื่อรักษาสถานะอะไรบางอย่าง ก็ต้องวิ่งออกไปชนงานเหล่านั้นตลอดเวลา”

วิธีคิดแบบนี้ของใครของมัน ไม่ได้บอกให้ต้องเดินตาม ก็มันชอบ มันใช่ และที่เขาย้ำบ่อยๆ คือ อยากทำให้มันอยู่ในระดับชีวิตปกติ ถามถึงเพลงที่เขียน อาบูบอกว่าอยู่หลักร้อย แต่ไม่เคยจัดระเบียบจริงๆ ว่ามีจำนวนเท่าไหร่

“ที่เริ่มต้นเขียนมันมาจากภายในจริงๆ ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนแปลกแยกต่อทุกสิ่ง  เหมือนเป็นคนป่วย เป็นโรคซึมเศร้า อยู่กับอะไรไม่ได้ รู้สึกว่าไม่เข้าพวก สมัยก่อนผมอ่านหนังสือเยอะ ในช่วงวัยหนุ่มยังไม่มีชุดความคิด พยายามหาว่าตัวเองกำลังคิดอะไร อยากอยู่แบบไหน ผมจึงค้นหาตัวเองด้วยการอ่านหนังสือ พวกวิถีแห่งเต๋า อ่านงานของฟูกุโอกะ (ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว)”

เมื่ออ่านแล้วก็เริ่มต้นเขียน แต่อาบูรู้สึกว่านั่นยังไม่สามารถตอบโจทย์บางอย่างด้านใน

“การทำเพลงมันมีเสียงด้วย ได้ใช้ตัวเราแสดงพลังออกมา” – พลังของความเศร้า

“มันเป็นธรรมชาติของผมนะ ซึ่งผมว่าความเศร้ามันมีพลังทางศิลปะ มันสั่นสะเทือน แล้วก็คุกคามใจคนฟัง เกิดแรงบันดาลใจด้วย คนเศร้า มาฟังเพลงเศร้า ร้องไห้ ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้แย่ลงเสมอไป แต่มันคือการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เพื่อจะกลับไปสู่จุดตั้งต้นของเรื่องราวทั้งหมดอย่างมีสติ ผมจึงชอบเล่นกับความเศร้า อาจเป็นเพราะผมมีทั้งธาตุและเป็นทาสของความเศร้า (หัวเราะ)”

DSC_8358

3.

ก่อนการสนทนา…

ช่วงบ่ายของวันธรรมดา อากาศหน้าร้อนยังคงร้อนตามปกติ อาบูขับรถมอเตอร์ไซค์มารับเราที่หน้าวัดละแวกบ้าน ก่อนหน้านั้นเขาเพิ่งกลับจากการช่วยภรรยาจัดร้านขายเสื้อที่ถนนข้าวสาร ลูกทั้งสองคนนั่งวาดรูปเล่นอยู่ที่โต๊ะในบ้าน – ชีวิตปกติ ในวันธรรมดาๆ

ที่จังหวัดสระบุรี อาบูเติบโตและผูกพันกับดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่บ้านเป็นสวนอาหาร ได้หยิบจับเล่นเครื่องดนตรีชิ้นแรกคือกีตาร์ แถมยังกลายเป็นจุดขายที่ใครต่อใครก็อยากมาดูเด็กชายตัวน้อยเล่นและร้องเพลง

เสียงยังไม่แตกหนุ่มเลยด้วยซ้ำ – เขาพูดยิ้มๆ

แรงบันดาลใจที่สั่นสะเทือนภายในอาบูที่สุดคือการแสดงของ หมู-พงษ์เทพ กระโดนชํานาญ

“เพื่อนพาไปดูคอนเสิร์ตน้าแกเล่นในสนามฟุตบอลโรงเรียนเทคโนฯที่โคราช เล่นคนเดียว ซึ่งตอนนั้นผมไม่รู้จักมาก่อน ดูแล้วทึ่งมาก เอาคนดูอยู่ มันมีพลังจากที่แกส่งลงมามาก หลังจากวันนั้น ก็เริ่มจริงจังกับการเล่นกีตาร์คนเดียว แต่ผมเล่นเพื่อรองรับตัวเองนะ ไม่ได้อยากเล่นเพื่อไปยืนอยู่ตรงนั้น

“ตั้งแต่เล่นมาไม่เคยเอาไปเสนอค่ายเพลง เคยมีคนติดต่อมาบ้าง แต่คิดว่าไม่อยากไปทำแบบนั้น ช่วงที่ พงษ์สิทธิ์ คําภีร์ ออกมาใหม่ๆ ก็มีคนติดต่อมา ยังไว้ผมทรงอเมริกันแบบมหาจำลองอยู่เลย ข้อเสนอของเขาอันดับแรกคือ อยากให้ไว้ผมยาว และให้เขียนเพลงแบบนั้น ผมก็บอกว่าไม่เอา ก็มีมาอีกทำนองนี้ เหมือนจะเอาผมไปแข่งกับอะไรสักอย่าง”

เน้นที่ความเป็นธรรมดา – อาบูยังคงกล่าวคำนี้

“ผมว่ามันต้องแยกกันให้ชัดเจน ระหว่างงานหาเงินกับงานที่รัก ถ้าผมดำรงตนเป็นนักดนตรีกลางคืน ก็ต้องทนไปเล่นดนตรีเพื่อหาเงินมาทำในสิ่งที่รัก ต้องตั้งไว้แบบนั้นเลย แต่ถ้าเราเอาสิ่งที่รักไปหาเงิน มันไม่สนุก มันเหมือนข่มขืนตัวเอง ทำให้งานที่รักบิดเบี้ยวไปหมด ต้องแบ่งให้ชัดเจนมากๆ”

“ใครที่ได้ฟังคุณเล่น ต้องยอมรับว่ามีพลัง ของแบบนี้ฝึกกันได้ไหม” เราอยากรู้

เขานิ่งคิด ก่อนว่า พลังมันอยู่ที่อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นจริง

“ปัญหาคือเรื่องวิธีคิด เด็กรุ่นใหม่ๆ อ่านหนังสือกันไหม เหมือนไม่มีก้อนความคิด อยากจะเล่าเรื่องอะไร เหมือนเล่าไปเรื่อย ไม่มีก้อนความคิดของตัวเอง ส่วนใหญ่จะเล่าเพราะอยากให้คนอื่นชอบ อยากไปนั่งอยู่ในใจคนฟัง คือผมอยากให้น้ำหนักอยู่ที่ความคิดเป็นอันดับแรกในการค้นหาตัวเอง”

หลังการพูดคุยในวันนั้น อาบูเล่นกีตาร์และร้องเพลงให้เราฟังถึง 4 เพลง เป็นบทเพลงธรรมดาๆ จากผู้ชายธรรมดาๆ ในบ่ายวันธรรมดา

แล้วจะเอาอะไรมากไปกว่านี้เล่า

 

**************
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก
คอลัมน์  Face of Entertainment  vol.73

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า