เปิดรับจอง Rational Choice Theory

promo rz

เปิดรับจองแล้ว !

รายละเอียดการพิมพ์

  • ขนาด 16 หน้ายกพิเศษ
  • ปก อาร์ตมัน 130 แกรม หุ้มปกแข็ง พิมพ์ 4 สี เคลือบลามิเนตด้าน Spot UV
  • เนื้อใน ปอนด์ถนอมสายตา 70 แกรม พิมพ์ขาวดำ
  • ความหนา 29 ยก (464 หน้า ไม่รวมปก)
  • เข้าเล่ม เย็บกี่ สันตรง
  • ราคาปก 400 บาท

กำหนดพิมพ์เสร็จ 15 ตุลาคม 2557

เงื่อนไขวิธีการสั่งซื้อ

  1. ส่งข้อความแจ้งชื่อ นามสกุล ที่อยู่ อีเมล และ หมายเลขโทรศัพท์ ทาง facebook/waymagazine และอีเมล [email protected]
  2. เราจะติดต่อกลับเพื่อแจ้งรายละเอียดวิธีโอนเงิน
  3. ผู้อ่านที่สั่งซื้อและโอนเงินตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม 2557 ได้รับสิทธิซื้อหนังสือราคาเล่มละ 400 บาท รวมค่าจัดส่ง (ส่ง EMS / บรรจุกล่อง / พร้อมวัสดุกันกระแทก)
  4. ผู้อ่านที่สั่งซื้อและโอนเงินหลังวันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม 2557 คิดค่าจัดส่งเล่มละ 70 บาท รวมเป็นเงิน 470 บาท
  5. มีจำหน่ายที่งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ 15 – 26 ตุลาคม 2557   / Way ประจำการที่บูธ F 10 โซนเพลนนารี่ฮอลล์

rationalchoicetheory

Rational Choice Theory ผลงานเล่มล่าสุดของ WAY of BOOK ชื่อเต็มของหนังสือคือ จอน เอลสเตอร์ (Jon Elster) กับทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุผล (Rational Choice Theory) มีที่มาจากงานวิจัยของ ไชยันต์ ไชยพร ซึ่งลงมือเขียนตั้งแต่ปี 2548 กระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในปีนี้

อาจกล่าวได้ว่านี่คือหนังสือวิชาการเต็มรูปแบบครั้งแรกของ WAY of BOOK หนังสือมีความหนาทั้งสิ้น 464 หน้า ขนาด 16 หน้ายกพิเศษ เข้าเล่มด้วยวิธีเย็บกี่ ปกแข็ง สันตรง กระบวนการผลิตประณีตและใส่ใจตามมาตรฐานสำนักพิมพ์

และต่อไปนี้คือเหตุผลบางประการที่ควรอ่านหนังสือเล่มนี้

หนึ่ง เนื่องจากขณะนี้เรากำลังหายใจในสังคมที่ ‘ความเป็นเหตุเป็นผล’ ล่มสลาย แต่ละฝ่ายต่างอ้างอิง ‘เหตุผล’ ของตนเอง คำถามเบื้องต้นจึงมีอยู่ว่า ถ้าในเมื่อต่างฝ่ายต่างก็อ้างอิงเหตุผล แล้วทำไมเหตุผลที่แข็งแรงที่สุดจึงไม่สามารถหักล้าง และสถาปนาการยอมรับให้บังเกิดแก่ผู้ที่ยืนพิงกับเหตุผลที่อ่อนกว่าได้

หรือว่าเอาเข้าจริงแล้ว สังคมไทยไม่ได้มีพื้นฐานการคิดและการสำแดงพฤติกรรม ‘อย่างเป็นเหตุเป็นผล’ ตามข้อตกลงที่ชาวโลกส่วนใหญ่เข้าใจ

ในเบื้องต้น หนังสือเล่มนี้จึงทำหน้าที่อธิบายข้อแตกต่างระหว่างคำว่า reason – logic – และ rational เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน

สอง โดยส่วนใหญ่เรามักจะได้อ่านและศึกษาความคิดเชิงปรัชญาการเมืองที่นิ่งแล้ว (หรือคนเขียนตายแล้ว) แต่ไชยันต์ ไชยพร เลือกที่จะศึกษา Rational Choice Theory ผ่าน จอน เอลสเตอร์ นักทฤษฎีชาวนอร์เวย์ ซึ่งเกิดเมื่อปี 1940 และยังมีชีวิตอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน เอลสเตอร์มีผลงานด้านทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผลมาตั้งแต่ยุค 1970 และยังพัฒนาต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน ผลงานล่าสุดของเอลสเตอร์ที่อ้างอิงในหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อปี 2009

สาม แม้นว่า Rational Choice Theory จะเป็นศาสตร์ที่แทรกอยู่ในสาขาวิชาหลักๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา การบริหารจัดการ ฯลฯ เนื่องจากมันเป็นทฤษฎีที่พยายามอธิบายถึงเหตุผลเบื้องหลังพฤติกรรมมนุษย์ แต่ก็ยังไม่มีนักวิชาการไทยค้นคว้า วิจัย และเรียบเรียงเนื้อหาออกมาอย่างจริงจัง หนังสือเล่มนี้จึงเป็นผลงานทางวิชาการเล่มแรกของประเทศไทยที่กล่าวถึงทฤษฎีนี้อย่างเป็นระบบ

สี่ Rational Choice Theory เหมาะกับคนที่ชอบถามว่า – “มีอะไรใหม่ๆ มาขาย!”

สำหรับผู้ที่เคยตื่นเต้นกับแนวคิดโพสต์โมเดิร์น คำบอกกล่าวสั้นๆ มีอยู่ว่า Rational Choice Theory คือ ‘คู่ชกทางวิชาการ’ ของโพสต์โมเดิร์น กล่าวคือ หากอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยสายโพสต์โมเดิร์น คือพวกที่ชอบนุ่งกางเกงขาสั้น สวมเสื้อยืดคอกลมยืดย้วยไปสอนหนังสือ อาจารย์สาย Rational Choice Theory ก็คือพวกที่สวมสแล็คสลิมฟิต ใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวกลีบโง้ง ที่เดินเข้าไปประสานสายตากับพวกโพสต์โมเดิร์น แล้วตั้งคำถามด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลสุภาพเรียบร้อย (แต่สีหน้าแววตาดึงดูดอวัยวะใช้เดินไม่แพ้อีกฝ่าย) ว่า การสวมเสื้อยืดคอย้วย กางเกงขาสั้นโชว์ขนหน้าแข้งมาสอนหนังสือ ก็นับเป็นวิธีการผลิตอัตลักษณ์เพื่อสร้างตัวตนและเพิ่มมูลค่าอย่างหนึ่ง – ใช่หรือไม่

ประเด็นคือ ในขณะที่บรรดานักรื้อสร้างเผ่าโพสต์โมเดิร์นตั้งคำถามกับเหตุผลที่กำกับพฤติกรรมทุกชนิดที่มีอยู่บนโลก ชาวเผ่า Rational Choice Theory จะสามารถขุดหาความเป็นเหตุเป็นผลเพื่อรองรับพฤติกรรมนั้นๆ ได้เสมอ

ห้า ในสารบบของ Rational Choice Theory ไม่มีที่ว่างให้คำว่า ‘ศีลธรรม-จริยธรรม’ แต่เชื่อเรื่องการบรรลุผลประโยชน์และความพึงพอใจสูงสุด พูดง่ายๆ อย่าได้เที่ยวสวมเสื้อคลุมนักศีลธรรมแอบอ้างคุณงามความดี ความสูงส่งของระดับจิตใจ หรือความเป็นผู้เสียสละเสียให้ยาก เพราะ Rational Choice Theory จะสามารถหาคำอธิบายเบื้องหลังพฤติกรรมได้เสมอว่า ประกอบไปด้วยผลประโยชน์และความพึงพอใจชนิดใดบ้าง

“ถ้าฉันแสร้งทำให้คนภายนอกมองเห็นว่า ฉันเป็นคนชอบช่วยเหลือและชอบทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น บุคคลอื่นๆ ก็จะรู้สึกชอบฉันและเป็นห่วงเป็นใยถึงความอยู่ดีมีสุขของฉัน เพราะมันทำให้พวกเขาได้อรรถประโยชน์เชิงบวกจากการบริโภคของฉันตามไปด้วย นี่หมายความว่า พวกเขาจะมีแนวโน้มจะกระทำสิ่งต่างๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของฉัน และผลลัพธ์สุทธิที่จะตามมาก็คือ ความอยู่ดีมีสุขของฉันจะมากกว่าการที่ฉันทำตัวเป็นคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวอย่างเคร่งครัด เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ผลประโยชน์ที่เกิดจากการเสียสละซึ่งกระทำให้แก่บุคคลบุคคลหนึ่ง ต่อบุคคลที่เป็นผู้รับจะสูงกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นกับบุคคลผู้เสียสละ ดังนั้นเมื่อคิดว่าคนทุกคนจะเสียสละให้แก่ฉัน ผลประโยชน์ของการเสียสละที่พวกเขาทำให้แก่ฉันนั้นย่อมสูงเกินกว่าต้นทุนของการเสียสละที่ฉันทำให้เพื่อคนอื่นๆ เป็นแน่” (ความเป็นเหตุเป็นผลเชิงยุทธศาสตร์)

หก ถึงตรงนี้หลายคนอาจสามารถปะติดปะต่อคิดไปถึงสำนักคิดทางปรัชญาการเมืองที่มีชื่อเสียงในความเจ้าเล่ห์เพทุบายสกุลมาเคียเวลเลียน โดย นิโคโล มาเคียเวลลี (Niccolo Machiavelli) ซึ่งสำหรับเอลสเตอร์แล้ว มาเคียเวลเลียนเป็นแนวคิดทางปรัชญาการเมืองที่ยังเจ้าเล่ห์ไม่ถึงขีดสุด เนื่องจากต่อให้จะเสนอว่าเจ้าผู้ปกครองต้องแสดงตัวเยี่ยงสุนัขจิ้งจอกด้วยไม่ใช่ราชสีห์เท่านั้น เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับ แต่ปัญหาของวิธีคิดแบบมาเคียเวลเลียน คือการยืนอยู่บนเงื่อนไขว่าผู้คนรายรอบจะสถิตหยุดนิ่ง โดยที่เจ้าผู้ปกครองเคลื่อนไหวทางความคิดแต่เพียงผู้เดียว
ในขณะที่เอลสเตอร์กล่าวถึงการตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในสภาวะที่ทุกฝ่ายต่างเคลื่อนไหวและมีความคิดเสมอกัน ประเด็นที่เอลสเตอร์คัดง้างกับมาเคียเวลลีจึงไม่ใช่ประเด็นทางศีลธรรม แต่มันเป็นข้อแตกต่างคัดง้างบนฐานคิดเดียวกัน – นั่นคือการบรรลุผลประโยชน์และความพึงพอใจสูงสุด

ในแง่นี้ เราอาจกล่าวได้ว่า Rational Choice Theory ของเอลสเตอร์ ก็คือมาเคียเวลเลียน พ.ศ.ปัจจุบันนั่นเอง

เจ็ด ผลจากการทดสอบ โดยยื่นต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ให้นักอ่านชาวสยามที่มีจุดยืนทางการเมืองปัจจุบันแตกต่างกันคนละขั้ว หลังการทดสอบปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งสองขั้วไม่ยอมตอบคำถาม เอาแต่ก้มลงกราบหนังสือเล่มนี้ แล้วพึมพำเหมือนๆ กันว่า – ข้าพเจ้าได้ค้นพบบิดาทางความคิดคนใหม่แล้ว

แปด อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้มิใช่เพราะต้องการสถาปนาศาสดาองค์ใหม่ เนื่องจากผู้อ่านย่อมมี ‘สิทธิในการเลือก’ ที่จะชอบหรือไม่ชอบ จะสมาทานหรือไม่สมาทานแนวคิดนี้ได้โดยอิสระ แต่การจะเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอ่านอย่างถี่ถ้วนและเข้าใจ ซึ่งนั่นหมายถึงผู้อ่านประสบความสำเร็จในการเดินสำรวจเขาวงกตที่จอน เอลสเตอร์ และไชยันต์ ไชยพร ออกแบบดักเอาไว้ด้วยความเพลิดเพลิน

เก้า เหตุผลทั้งปวงที่ยกมานั้น จะบังเกิดความเป็นเหตุเป็นผลต่อเมื่อผู้อ่านพร้อมใจกันควักกระเป๋าซื้อหนังสือเล่มนี้โดยสมัครใจ!

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า