‘หมอกระต่าย’ ต้องไม่ตายฟรี คำสัญญาของว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

เรื่อง: มนสิรา กาหลง

สืบเนื่องจากกรณีการเสียชีวิตของ เเพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ ‘หมอกระต่าย’ ในช่วงบ่ายวันที่ 21 มกราคม 2565 จากอุบัติเหตุบริเวณทางม้าลายหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท การสูญเสียในครั้งนี้เกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีหน้าที่ในการรักษากฎหมาย แต่กลับละเมิดกฎหมายเสียเอง ด้วยเหตุนี้ จึงนำไปสู่กระเเสการเรียกร้องทวงถามสิทธิในความปลอดภัยเมื่อต้องข้ามทางม้าลาย อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

เพื่อเป็นการรำลึกถึงหมอกระต่าย มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สำนักงานตำรวจเเห่งชาติ และภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุภาครัฐ ภาคเอกชน จัดเวทีสาธารณะหัวข้อ ‘หมอกระต่ายต้อง (ไม่) ตายฟรี’ พร้อมเชิญว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จำนวน 4 ท่าน ได้แก่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล และ รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์

นอกจากนี้ มูลนิธิเมาไม่ขับได้จัดทำหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเสนอให้กำหนดวันที่ 21 มกราคมของทุกปี เป็น ‘วันหมอกระต่าย’ หรือ ‘วันความปลอดภัยบนท้องถนนแห่งชาติ’ เพื่ออุทิศให้แก่หมอกระต่าย และเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันเรียกร้องสิทธิในความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ต้องถูกปกป้อง

สิทธิพื้นฐานที่ประชาชนต้องร้องขอ

“สิทธิในการมีชีวิตอย่างปลอดภัยเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน บุคคลย่อมมีสิทธิเเละเสรีภาพในร่างกาย ประเทศมีพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองสิทธิผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อเสนอเเนะต่อคณะรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นการร่างนโยบาย งบประมาณ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเสียชีวิตจากเหตุอันไม่สมควร” 

วสันต์ ภัยหลีกลี้ หนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวย้ำถึงสิทธิในการมีชีวิตอย่างปลอดภัย ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่บุคคลพึงได้รับ และชี้เเจงถึงบทบาทการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนนำข้อเสนอแนะยื่นต่อคณะรัฐมนตรีในเชิงนโยบาย

ขณะที่ นายแพทย์อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล บิดาของหมอกระต่าย กล่าวแสดงความรู้สึกถึงการสูญเสียลูกสาวคนโต และเรียกร้องให้มีบทลงโทษจากกรณีเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นบทลงโทษสูงสุด

“ในการพิจารณาความผิด ไม่ควรมองแค่เรื่องความประมาท หลังจากที่เกิดกระเเสรณรงค์เรื่องความปลอดภัยจากหลายๆ หน่วยงาน ทั้งหน่วยงานเอกชน อิสระ เเละภาครัฐ ผมรู้สึกดีใจ อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น มันควรจะเป็นโทษสูงสุด โทษเท่าที่ปรากฏ ผมไม่มั่นใจว่ามันเหมาะสมหรือยัง ทุกคนอาจจะจดจำไปในระยะหนึ่ง เเต่นานๆ ไปก็ไม่ทราบว่าจะจดจำได้อยู่ไหม

“ทุกวันนี้ครอบครัวเรารู้สึกขาดหาย ซึ่งไม่มีวันที่จะเติมเต็มได้ ตอนนี้ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนก็รู้สึกหวาดกลัว เดินข้ามทางม้าลายก็ไม่มั่นใจ โดยเฉพาะเวลาเห็น screenshots ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหมอกระต่าย จิตใจก็ดิ่งฮวบทุกที สุดท้ายนี้ก็อยากจะให้ความสูญเสียครั้งนี้เป็นบทเรียน” 

ทางด้าน แพทย์หญิงลลนา ก้องธรนินทร์ กล่าวในนามตัวแทนแพทย์รามาธิบดี รุ่น 42 หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐาน คือสิ่งเบื้องต้นที่เราไม่ควรต้องร้องขอ แต่วันนี้เราต้องมาเรียกร้องขอในสิ่งที่เราไม่ควรจะต้องมาเรียกร้อง ไม่เข้าใจในกระบวนการทำงานหลายๆ อย่าง ทำไมคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีอำนาจ ทำไมเขาไม่ทำเลย ยิ่งคุณช้าเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีคนตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” 

ทั้งนี้ แพทย์หญิงลลนาและกลุ่มตัวเเทนเเพทย์ ได้ร่วมกันจัดตั้งแคมเปญ ‘Rabbit Crossing’ เพื่อยื่นเสนอต่อแพทยสภาและรัฐ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีการจัดทำทางม้าลายที่ปลอดภัย พร้อมออกกฎหมายใหม่ แยกเป็นมาตราใหม่ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ที่กำหนดอย่างชัดเจนว่า กรณีผู้ขับขี่ไม่ลดความเร็วรถขณะขับรถเข้าใกล้ทางม้าลาย และกรณีไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายมีความผิด มีโทษอื่นนอกเหนือจากการปรับ เช่น ตัดคะแนน หรือบังคับให้เข้ารับการอบรม หรือยึดพาหนะ นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องให้ปรับบทลงโทษ ออกกฎหมายเป็นมาตราใหม่ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ที่กำหนดบทลงโทษอย่างรุนแรงกับผู้ขับขี่ที่ขับชนคนข้ามทางม้าลาย ในลักษณะคล้ายกรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับชนคนอื่นตามมาตรา 160 ตรี ของพระราชบัญญัติจราจรทางบก ซึ่งมีโทษสูงสุดคือ จำคุกและเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

เปิดวิสัยทัศน์ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กรณี ‘หมอกระต่าย’

จากนั้นเวทีเสวนาได้เปิดโอกาสให้ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แสดงวิสัยทัศน์ต่อการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ

“กรณีหมอกระต่ายมี 4 เรื่องที่เราต้องคิด เรื่องแรกคือ มาตรฐานทางม้าลาย ปรับปรุงลักษณะทางกายภาพทางม้าลายกว่า 4,160 จุด โดยการขีดสีตีเส้นให้ชัดเจน ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างให้เพียงพอ เพิ่มสัญญาณไฟเตือนข้างหน้ามีทางม้าลาย ป้ายจำกัดความเร็ว พร้อมทั้งดูแลบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้น 1 ปี จะเสร็จเรียบร้อย 

“เรื่องที่ 2 ส่งเสริมให้กลุ่มที่เป็นเป้าหมายหลัก เป็นเจ้าภาพในการรณรงค์ให้วินรถจักรยานยนต์ รถสาธารณะ (Grab) กระตุ้นให้หยุดรถให้คนข้าม เรื่องที่ 3 เกี่ยวกับระเบียบจราจร ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ใช้กล้องตรวจจับคนทำผิดกฎจราจร ตำรวจไม่ต้องมาตั้งด่าน เเละสุดท้าย กทม. ต้องเป็นผู้ดูแลด้านกายภาพ เรามีเทศกิจ 3,000 คน แทนที่จะจับแม่ค้า มาช่วยดูเรื่องความปลอดภัยด้วยได้ไหม 

“หลักๆ ก็คือ มาตรฐานต้องได้ ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ใช้กล้อง AI จับภาพผู้กระทำผิด ซึ่งจะใช้เวลา 1 ปี ดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้ง 4,160 จุด ผมเชื่อว่าทำได้ เเละเป็นหน้าที่โดยตรงที่เราปฏิเสธไม่ได้”

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

“ในอนาคตหากเกิดอุบัติเหตุกรณีเดียวกับหมอกระต่าย จะเห็นทีมผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ไปตรวจสอบหาสาเหตุ โดยมีผู้เชี่ยวชาญร่วมลงพื้นที่ด้วย ต้องเป็นคนที่มีความรู้ เชี่ยวชาญเรื่องความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้เสร็จภายใน 6 เดือน และใช้มาตรฐานสากล ไม่ใช่รอให้สูญเสียเเล้วไปแก้ไข 

“ถ้าดูประเทศที่พัฒนาเเล้วอย่างอังกฤษ จะมีการจำกัดความเร็วบริเวณหน้าโรงเรียน โรงพยาบาล 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง และบริเวณชุมชน 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง รวมทั้งติดตั้งปุ่ม SOS เพื่อให้โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเข้าถึงที่เกิดเหตุ ตลอดจนถ่ายภาพผู้กระทำผิด เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย สุดท้ายทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 6 เดือน”

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล

“เรื่องแรกที่ทำได้เลยคือ การปรับปรุงให้ทางม้าลายทั้งหมดมีความปลอดภัย มีโครงสร้างทางวิศกรรมจราจรที่ถูกต้อง และการติดตั้งสัญลักษณ์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสัญญาณไฟบริเวณทางข้าม โดยเฉพาะในจุดที่มีคนข้ามหนาเเน่น จะต้องมีการเพิ่มงบประมาณ 

“สิ่งที่สำคัญต่อมาคือ การตรวจตราให้ถนนอยู่ในสภาพปกติ แต่เรื่องที่ต้องทำทันทีคือการใส่ใจ ว่านี่คือปัญหาในครอบครัวของเรา ในเมื่อ กทม. มีกล้อง อย่าผลักภาระให้เหยื่อ ผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ กทม. ต้องทำ อย่าคิดว่าทำไม่ได้ ถ้าเราทำอย่างต่อเนื่องเเละจริงจัง ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ต้องทำตรงนี้ให้ชัด ยืนยันตรงนี้ให้ได้ ต้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง”

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ 

“ดิฉันจะเป็นตัวแทนของ Power of the Powerless การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เราต้องมีส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เราสามารถทำรีโมทเซนซิง (Remote Sensing) ถ้าคุณไม่หยุดตรงทางม้าลาย คุณจะถูกตัดคะเเนน เมื่อถึงเกณฑ์กำหนด คุณจะถูกยึดใบขับขี่ ต้องมีระบบส่งต่อข้อมูลเข้าไปยังส่วนกลาง

“ดิฉันจะร่วมมือกับทุกกลุ่มในสังคมที่ใส่ใจในเรื่องความปลอดภัย เรามาคิดด้วยกันว่าจะทำอะไรได้บ้าง ดิฉันมั่นใจว่าภายใน 1 ปี เราจะทำในสิ่งที่ประชาชนชี้ปัญหาให้กับเรา ซัพพอร์ตในทุกสิ่งที่จะทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความปลอดภัย”

ในระหว่างการแสดงวิสัยทัศน์ของว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 4 คน ทางคณะผู้จัดเวทีสาธารณะได้ทำการบันทึกคลิปการแสดงวิสัยทัศน์ดังกล่าวไว้ และภายหลังจากการรับตำแหน่งไม่เกิน 90 วัน จะมีการทวงถามคำสัญญาจากการแสดงวิสัยทัศน์ที่ผู้ว่าฯ กทม. ได้ให้ไว้ในเวทีสาธารณะครั้งนี้ เพื่อติดตามการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ เเละเป็นข้อพิสูจน์เชิงประจักษ์ได้ว่า วิสัยทัศน์ที่ถูกนำเสนอโดยผู้ว่าฯ กทม. สามารถลงมือทำและเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่เพียงนำเสนอเพื่อการหาเสียงเท่านั้น

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า