ภาพ: มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
เงิน 2.5 ล้านบาท สามารถทำอะไรได้มากมาย ตั้งแต่พาไปเราเที่ยวรอบโลกแบบประหยัดได้ประมาณ 4 รอบ ซื้อคอนโดใกล้รถไฟฟ้า หรือบ้านเดี่ยวสักหลักในเขตปริมณฑล แต่สำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี หากต้องการหายขาด ก็มียาตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพดี ผลข้างเคียงต่ำ ระยะเวลาการรักษาลดลงกว่าเดิม แต่ค่ารักษาในสหรัฐ ณ ตอนนี้อยู่ที่เกิน 2.5 ล้านบาทมาหน่อย
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (30 สิงหาคม) ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เข้ายื่นคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรของยาโซฟอสบูเวียร์ (sofosbuvir) ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ที่มีราคาแพงกว่า 2.5 ล้านบาทต่อการรักษาหนึ่งคนในสหรัฐ (ดู Infographic: ขายบ้าน ขายนา รักษาไวรัสตับอักเสบซี)
โดยหวังพึ่งกฎหมายสิทธิบัตรปลดล็อคการผูกขาดตลาด เปิดโอกาสให้องค์การเภสัชกรรมและบริษัทยาชื่อสามัญรายอื่นสามารถผลิตยาและขายได้ในราคาที่เป็นธรรม และมียาดังกล่าวอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ
ตัวแทนทั้งสององค์กรใช้มาตรการคัดค้านก่อนได้รับสิทธิบัตร มาตรา 31 ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร ขอใช้สิทธิ์คัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์ ที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรในไทยโดยบริษัทยาสัญชาติอเมริกัน กิลิแอด (Gilead Pharmasset LLC) ทั้งนี้ ได้ยื่นเอกสารคำคัดค้านและหลักฐานกว่า 1,000 หน้าต่อเจ้าหน้าที่สำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยหวังว่าทางสำนักฯจะไม่รับพิจารณาคำขอฯดังกล่าว
WAY ได้สอบถามไปยัง เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เรื่องการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในประเด็นความคืบหน้าหลังจากการยื่นเอกสารคัดค้านครั้งนี้ และคำแนะนำสำหรับใครก็ตามที่อาจสงสัยว่าตัวเองเสี่ยงต่อไวรัสตับอักเสบซี
ยาใหม่ไฉไลกว่าเก่า!
กรณียาโซฟอสบูเวียร์ในประเทศไทยอาจดูเหมือนยาใหม่ เฉลิมศักดิ์ให้ข้อมูลว่า เพิ่งได้รับทะเบียนยาจาก อย. เมื่อปลายปี 2558 และมีจำหน่ายในบางโรงพยาบาลเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
โซฟอสบูเวียร์อยู่ในกลุ่มยา DAA (Direct Acting Antiviral) ต่างกับยาเก่า ซึ่งเป็นยาฉีด รู้จักกันในชื่อ เพกกิเลต อินเตอร์เฟียรอน (Pegylated Interferon: Peg-IFN) เป็นยาประเภทชีววัตถุ คือเมื่อฉีดเข้าไป จะไปสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาสู้กับไวรัส
ขณะที่โซฟอสบูเวียร์จะเป็นตัวยาที่เข้าไปจัดการไวรัสโดยตรง ประสิทธิภาพดีกว่า ผลข้างเคียงน้อยกว่ามาก เวลาใช้ จะใช้โซฟอสบูเวียร์เป็นหลัก คู่กับยาอีกตัว เช่น ดาคลาทาสเวียร์ (Daclatasvir) คือต้องใช้ยาสองตัว การรักษาจึงจะได้ผลสูงสุด
แม้ยาตัวนี้จะดีขึ้นกว่าเดิมเท่าไหร่ก็ตาม แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ ค่ารักษาในเมืองไทย อยู่ที่ราว 430,000-495,000 บาทต่อการรักษา 12 สัปดาห์ และยานี้ยังไม่อยู่ในบัญชียาหลัก พูดง่ายๆ ก็คือ ยังไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของบัตรทอง หรือประกันสังคม
สำหรับผู้ป่วย ขณะนี้คงต้องใช้ยาฉีดตัวเดิม ซึ่งพบผลข้างเคียงหลายประการ อาทิ ผมร่วง ตัวซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายที่ทนไม่ไหวก็ต้องขอเลิกรักษา บางรายทนรักษาจนครบแล้ว แต่พบว่าไม่ได้ผลเพราะไม่ตอบสนองกับสายพันธุ์ที่ตัวเองเป็น
ไวรัสตับอักเสบซีมีทั้งหมด 7 สายพันธุ์ ยาตัวเดิมที่เป็นยาฉีด จะตอบสนองดีสุดกับสายพันธุ์ที่ 3 แต่สายพันธุ์อื่นๆ การรักษาจะด้อยลงไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่สภาพตับว่ามีพังผืดขึ้นระดับไหน หรือความรุนแรงของโรคพัฒนาไปถึงระดับไหน
“ยาตัวใหม่จะให้ประสิทธิภาพดีกว่า รักษาได้ประสิทธิผลประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ผลข้างเคียงน้อยกว่า ระยะเวลารักษาสั้นลง เหลือแค่ 3 เดือน จากเดิมอยู่ที่ 6, 12, 24 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพตับ และปัจจัยร่วม เช่น มีการติดเชื้อร่วมกับเชื้อเอชไอวีด้วยไหม” เฉลิมศักดิ์กล่าว
ตรวจไว แก้ไขได้เร็ว
อย่ารอให้มีอาการแล้วค่อยไปตรวจ เพราะจะช้าเกินไป
“นี่ก็เป็นเหมือนภัยเงียบ กว่าหลายคนจะรู้ ก็เริ่มมีอาการตับอักเสบ หรือจะเป็นตับแข็งแล้ว คือรู้สึกอ่อนเพลีย ซีด เลือดจาง ซึ่งมันอาจจะแฝงอยู่นานแล้ว ผ่านระยะฟักตัวแล้วจึงมีอาการ ถ้าไม่ตรวจเลือด เราก็ไม่รู้”
การติดต่อของไวรัสตับอักเสบซี จะคล้ายกับเอชไอวี คือติดทางเลือดและทางเพศสัมพันธ์ หรือบางคนได้รับเลือดตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้คัดกรอง ก็มีสิทธิ์เป็นไวรัสตับอักเสบซีได้
หากใครคิดว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี แล้วพบผลบวกในการตรวจครั้งแรก ยังต้องผ่านการตรวจอีกขั้นตอนหนึ่งในสามเดือนถัดไป เพื่อให้ทราบว่าเป็นไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรังหรือไม่ เนื่องจากร่างกายบางคนสามารถจัดการไวรัสได้ด้วยตัวเอง
“การตรวจจึงต้องตรวจสองครั้ง พอทราบผลครั้งแรกว่าเป็นบวก ก็ต้องตรวจคอนเฟิร์มว่าเป็นชนิดเรื้อรังหรือเปล่า พอทราบว่าเป็นชนิดเรื้อรัง คราวนี้ต้องเริ่มมาคิดเรื่องการรักษา ส่วนมากก็จะไม่ค่อยมีคนรู้ เพราะร่างกายก็ดูปกติ จนกระทั่งตับเริ่มมีพังผืด เริ่มอักเสบขึ้นมา แล้วเพิ่งจะมารู้ตอนนั้น”
ยาตัวเดียว ขอสิทธิบัตร 13 ฉบับ!
13 คำขอมาจากบริษัทเดียวกันทั้งหมด เพราะฉะนั้น มันเป็นโจทย์ใหญ่ และเป็นช่องว่างใหญ่ในเรื่องการรับจดสิทธิบัตรในประเทศไทย ถ้าทั้ง 12 คำขอ ผ่านหมดทุกคำขอ (จากข้อมูลที่บริษัทละทิ้งคำขอไปหนึ่งฉบับ) ก็จะผูกขาดตลาดไปเกินกว่า 20 ปี
นั่นหมายความว่า เมื่อคำขอแรกหมดระยะเวลาความคุ้มครอง ก็จะมีคำขอที่ 2 3 4 5 ทยอยออกมาเรื่อยๆ โดยบริษัทยาจะอ้างเหตุผลต่างๆ นานาในเรื่อง ‘ความใหม่’ อยู่ตลอดเวลา
3 คุณสมบัติ ยื่นขอรับสิทธิบัตรยา (คลิกชมคลิป ‘ต่อเวลายาแพง…ไม่สิ้นสุด’)
- เป็นนวัตกรรม มีความใหม่ ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน
- ต้องมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น
- สามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้
“13 คำขอที่ว่า จะเหลื่อมเวลากันไปเรื่อยๆ ยาตัวเดียว…ในประเทศไทยตอนนี้เราค้นเจอ 13 คำขอ แต่ที่สหรัฐ เขาขอจดทั้งหมด 27 คำขอ”
เฉลิมศักดิ์เพิ่มเติมว่า ตอนนี้นอกจากรอความคืบหน้าจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา อีกส่วนที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกันคือ งานศึกษาเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของยาโซฟอสบูเวียร์กับยาตัวอื่นๆ ซึ่งกำลังจะยื่นต่อทางคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อพิจารณานำเข้าบัญชียาหลักหรือไม่ หากสำเร็จ ทุกคนก็มีสิทธิ์จะใช้ยาตัวนี้ได้ฟรี ไม่ว่าจะเป็นระบบบัตรทอง ระบบประกันสังคม หรือสิทธิประโยชน์ข้าราชการ
ระหว่างนี้อาจจะมีการต่อรองราคายาเพิ่ม หรือประกาศใช้ CL ก็เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการฯจะพิจารณาต่อ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข