ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
ตอนที่ 3
เส้นทางซึ่งเรากำลังเดินอยู่นับว่ายากลำบาก ทว่าไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้
โจรกรรมประโยคนี้มาจาก เชอเกียม ตรุงปะ ผู้เขียนหนังสือ ชัมบาลา มันอธิบายเส้นทางที่เราเดินทางใน Spiti Valley ได้ดี
เส้นทางของเราก็นับว่ายากลำบาก แต่เราเป็นคนเลือกเอง เลือกจะมาที่นี่เอง เริ่มที่นี่ – หมู่บ้านคาลปา (Kalpa)
จากคาลปา เราจำเป็นต้องไต่เนินเขาสลับดาวน์ฮิลล์ ตามภูมิประเทศเชิงชั้นเทือกหิมาลัย เลาะเลียบแม่น้ำหลายสายตลอดเส้นทาง จนไปสิ้นสุดที่เมืองมานาลี (Manali)
การเดินทางในหุบเขาสปิติของชาวต่างชาติ จำเป็นต้องลงไปทำ inner line permit ที่เมืองด้านล่างชื่อ เรคคองปีโอ (Reckong Peo)
ย่านดาวน์ทาวน์ของเรคคองปีโอไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่ ฝ่าฝืนมีโทษปรับตามกฎหมาย แต่ในเทศบาลเมืองที่เราทำ inner line permit ฝูงกัญชาซึ่งเราสับสนในเพศของมันยืนต้น ‘มองบน’ ใส่ข้าพเจ้า และบางทีพวกมันอาจ ‘ยิ้มอ่อน’ ใส่ป้าย Don’t Smoke ของเทศบาลด้วย
เปราะบางและเขม็งตึง คือลักษณะพื้นที่พรมแดนระหว่างอินเดียกับจีน
อินเดียมีพรมแดนติดกับจีนกว่า 4,000 กิโลเมตร ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างดินแดนในครอบครองของอีกฝ่ายว่าเป็นของตนมาตั้งแต่อตีเตกาเล ความขัดแย้งดำรงอยู่แม้ในการเมืองระหว่างประเทศร่วมสมัยของจีนและอินเดีย ประหนึ่งว่า อินเดียคงไม่ชอบตีปิงปอง และจีนคงไม่กินแกงถั่วมาซาลา
การเปิดประตูอินเดียต้อนรับองค์ดาไลลามะเข้ามาลี้ภัยและตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นหลังการลุกฮือต่อต้านการปกครองจากจีนของชนชาวทิเบตล้มเหลวในปี 1959 เป็นริ้วปริร้าวบนกระจกการเมืองระหว่างจีนและอินเดีย
เมษายนที่ผ่านมา องค์ดาไลลามะได้พบกับนายนาเรน จันดราดาส อดีตทหารอินเดียวัย 79 ปี ผู้นำทางคอยช่วยเหลือเมื่อครั้งหลบหนีข้ามพรมแดนจากทิเบตเมื่อปี 1959 ตอนนั้นองค์ดาไลลามะปลอมตัวเป็นทหารเดินทางจนถึงรัฐอรุณาจัลประเทศ (Arunachal Pradesh)
ทั้งสองสวมกอดกัน และแก่ชราเหมือนกัน
หมู่บ้านคาลปา เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งบนความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 2,960 เมตร ในจังหวัดคินนัวร์ (Kinnaur) ชาวคินนัวรีเชื่อว่าพวกเขาหล่นลงมาจากก้อนเมฆ เสมือนของขวัญจากพระผู้เป็นเจ้า นิทานกำเนิดมนุษย์ของชาวคินนัวรีแตกต่างจากปรัมปรากำเนิดมนุษน์ของคนสุวรรณภูมิในตระกูลลาว-ไทย มอญ-เขมร ที่บันทึกในพงศาวดารล้านช้าง มนุษย์กำเนิดจากน้ำเต้าปุง แต่เพราะแถนโกรธที่มนุษย์ละเมิดคำสั่งจึงปล่อยให้น้ำท่วมเมือง ควายที่ช่วยมนุษย์ทำไร่ทำนาตาย นานไปก็มีเครือน้ำเต้าปุง 3 ลูก งอกทางจมูกซากควายตายตัวนั้น ปู่ลางเชิงใช้เหล็กแหลมทิ่มผลน้ำเต้าปุง มนุษย์บุเบียดหลั่งไหลกันออกมาถึง 3 วัน 3 คืน
ในอดีตคาลปาคือเส้นทางค้าขายบนทางสายไหมเก่าในภูมิภาค Trans-Himalayan ซ่อนตัวในหุบเขา เบื้องล่างคือแม่น้ำสตลุช (Sutlej) คาลปาเพิ่งเปิดประตูต้อนรับคนภายนอกในปี 1989 ก่อนพวกเรามาเยือน 28 ปี
ชาวคินนัวรี (Kinnauri) มีทั้งผู้นับถือพุทธและฮินดู ผสมผสานกันในหมู่บ้านที่สร้างบนเขา เกือบทุกครัวเรือนผลิตไวน์ท้องถิ่นจากผลแอปเปิล องุ่น และแอพริคอต เรียกได้ว่าพวกเขาโฮมบริวกันแทบทุกหลังคาเรือน
วันที่เราเดินทางจากคาลปา ลงเขาไปทำ permit ที่เมืองเรคคองปีโอ เสียงดนตรีพื้นถิ่นเดินทางจากเนินเขา ครื้นเครงทั่วหมู่บ้านในหุบ ขบวนแห่ขันหมากชาวคินนัวรีรื่นเริงไม่ต่างขบวนแห่ขันหมากของชาวอำเภอท่าวุ้ง ลพบุรี ชาวคินนัวรีหลายคนเดินเซในระดับพร้อมจะหัวทิ่มพื้นได้ทุกก้าวย่าง แต่ เทปัง (Thepang) บนศีรษะลุงขี้เมาชาวคินนัวรีก็ไม่หล่น แม้เขาจะเมามากแล้วก็ตาม
‘เทปัง’ คือหมวกครอบศีรษะมีแถบกำมะหยี่สีเขียว ชาวคินนัวรีในย่านดาวน์ทาวน์ของเมืองเรคคองปีโอและในหมู่บ้านคาลปาสวมใส่เทปังทั้งหญิงชาย เป็นอัตลักษณ์เฉพาะชาวคินนัวรี แม้เนื้อผ้าและรูปทรงของเทปังจะห่างไกลจากการป้องกันความหนาวเย็นก็ตาม
ต้นน้ำสตลุชเริ่มที่ทะเลสาบรากษสตาล (Lake Rakshastal) ในทิเบตภายใต้การปกครองของจีน สตลุชพกความกราดเกรี้ยวรวดเร็วดุจดุรงค์หนุ่มควบเดินทางผ่านช่องเขาชิปกีลา (Shipki La) ประเทศอินเดีย มาดมั่นมุ่งหน้าผ่านหินและดินใต้สายน้ำไปยังปากีสถาน มีปลายทางที่แม่น้ำสินธุ
เรากำลังเดินทางสวนกระแสน้ำ มุ่งหน้าเข้าใกล้จีน การเดินทางของสตลุช ไม่ต้องใช้พาสปอร์ต วีซ่า หรือ อินเนอร์ ไลน์ เพอร์มิต
สตลุช เชี่ยว ขุ่น และเปลี่ยวเหงา ข้าพเจ้าไม่พบชาวเมืองพื้นถิ่นคนใดหาปลาในแม่น้ำ อาจเพราะลักษณะของแม่น้ำดังกล่าวข้างต้น
ผู้บริหารรัฐหิมาจัลประเทศใช้สัตรุจในการปราบศัตรูของโลกสมัยใหม่ – พลังงานโบราณ
อินเดียใช้แหล่งพลังงานจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 70 และร้อยละ 10 ตามลำดับของสัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด
กระทรวงพลังงานหมุนเวียน (Ministry of New and Renewable Energy: MNRE) มีแผนยุทธศาสตร์พัฒนาพลังงานหลากหลายรูปแบบ ทั้ง พลังงานจากพลังน้ำ พลังลม นิวเคลียร์ แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ กระแสคลื่นในทะเล ฯลฯ
นิตยสาร Forbes ไม่ได้จัดอันดับ แต่ข้าพเจ้าอุปมาว่า หิมาจัลประเทศเข้าข่ายเศรษฐีพลังงาน ทรัพยากรแม่น้ำหลายสายถูกใช้ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ส่งกระจายไปยังรัฐอื่น เช่น รัฐจัมมูและแคชเมียร์ (Jammu & Kashmir) รัฐปัญจาบ (Punjab) รัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) รัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) รัฐหรยาณา (Haryana) รัฐราชสถาน (Rajasthan) เดลี และเมืองจันดีการ์ (Chandigarh) รวมถึงใช้ภายในหิมาจัลประเทศเอง
ดาวนีออนบนเมืองภูเขาระยิบระยับเต็มแผ่นเขาราตรีที่เรามองไม่เห็น สูงขึ้นไปบนเชิงชั้นภูเขา บ้านเรือนดั้นด้นกันขึ้นไปปักฐาน ดาวนีออนดวงน้อยเปล่งตัวเองเหมือนแมลงเรืองแสง เป็นจุดเล็กๆ ประดับภูเขากลางคืน
เราอาจจะมองเห็นแสงไฟบ้านเรือนบนภูเขาหิมาจัลประเทศยามกลางคืนเหมือนแมลงเรืองแสง แต่ในสายตาคนขับรถบรรทุกสินค้าบนถนนสปิติวัลเลย์ ไฟท้ายจักรยานยามวิกาล คงเป็นเพียงแสงเรื่อเรืองของหิ่งห้อย
เมื่อเป็นเพียงแสงหิ่งห้อยในป่าหิมพานต์ที่เต็มไปด้วยสัตว์ดุร้ายอย่างรถสิบล้อ ขออนุญาตเน้นย้ำ – สิบล้ออินเดีย ความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ การจัดขบวนจักรยาน 16 คันคือความรอบคอบอย่างจำเป็น การกำหนดจุดสิ้นสุดการปั่นในแต่ละวันเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ในกลุ่มนักเดินทางของเรามีช่วงวัยตั้งแต่ 30 ต้นๆ ไปจนถึงชนชั้นสูงวัยอายุ 65 ระดับทักษะความสามารถในการจัดการตนเองในเรื่องจักรยานก็แตกต่างกัน
ทุกเช้าก่อนการเดินทาง ข้าพเจ้ามักเห็น กบ-ชิดพันธ์ สุนทรพิศาล ช่างเทคนิคและซ่อมจักรยานแห่งร้านจักรยาน Bok Bok Bike ถือประแจเดินขันน็อตให้รถจักรยานคันต่างๆ อย่างถี่ถ้วน สายตาของเขาละเอียด แม้แต่สายล็อคกระเป๋าแพนเนียร์ที่ยึดบนแร็คท้ายจักรยานของเพื่อนร่วมทาง เขาก็ไม่มองข้าม
จัดแจงความปลอดภัยให้เพื่อนร่วมทางเสร็จ กบยืนคร่อมจักรยานตน จุดไฟที่ปลาย Mevius Wind Blue หายใจเข้าไปคายควันออกมา
การเดินทางของช่างภาพ เขามองหาอะไร? อาจเป็นจังหวะบางจังหวะที่เขาต้องการหยุดมันไว้อย่างเป็นนิรันดร์ สำหรับช่างจักรยานอย่างกบ เขาเรียนรู้คาแรคเตอร์ของรถแต่ละประเภทบนเส้นทางที่แตกต่าง
“ผมชอบเสพคาแรคเตอร์ของรถ” กบหมายถึง การเรียนรู้ศักยภาพของรถจักรยานแต่ละประเภท นักจักรยานถ้าไม่เดินทางแล้วเขาจะเข้าใจรถจักรยานที่ต้องทำต้องซ่อมต้องแนะนำคนอื่นได้อย่างไร
“คนก็เหมือนเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนจักรยานไปข้างหน้า ถ้าร่างกายแข็งแรง เราจะสัมผัสได้ถึงขีดศักยภาพของรถ ความแตกต่างของรถแต่ละประเภท และสภาพเส้นทางแต่ละแบบ ทำไมเขาจึงดีไซน์รถออกมาแบบนี้ ทำไมผมเลือกเอารถหน้าตาแบบนี้มา เพราะเราอยากรู้ว่า ทำไมรถคันนี้ต้องใหญ่ขนาดนี้ ทำไมยางต้องใหญ่ ทำไมต้องแพ็คของแบบนี้ จบแต่ละทริปนี้ผมก็จะเข้าใจว่าทำไม”
เพื่อเข้าถึงศักยภาพของจักรยาน เขาต้องแข็งแรง กล้ามเนื้อแต่ละมัดของกบยืนยันเช่นนั้น
“การเดินทางด้วยจักรยาน เราต้องดูแลตลอด สภาพเส้นทางอาจทำให้น็อตบางตัวคลาย” และมันหมายถึงความปลอดภัยในชีวิตของคนบนอานจักรยาน กบบอกว่า นี่คือความคาดหวังที่อยากให้ทุกคนทำได้ด้วยตนเอง เป็นพื้นฐานของการเดินทางด้วยจักรยาน เขาได้นิสัยเหล่านี้มาจากชายคนหนึ่งชื่อ หมา
กบกำลังพูดถึง ‘บอส’ ของเขา หมา-ประพฤติ ปาลสาร เจ้าของร้าน Bok Bok Bike
หมาเป็นคนอำเภอปราสาทแห่งเมืองสุรินทร์ ข้าพเจ้าทึ่งเมื่อรู้ว่า ช่วงวัยมัธยมศึกษา เขาสอบติดเตรียมทหาร, วิศวกรรมลาดกระบัง / วิศวกรรม มข. / แพทย์ จุฬาฯ แต่สุดท้ายเลือกเรียนวิศวะ จุฬาฯ
สอบเล่นๆ – หมาว่า บ้าดีมั้ย
จักรยานคันแรกคือรถหน้าตาคล้ายเสือภูเขา ในขณะที่วัยรุ่นเมืองสุรินทร์ขี่มอเตอร์ไซค์มาจอดเต็มโรงเรียน เขากลับสวนทางแตกต่าง เขาอยากได้จักรยาน เงินเก็บจำนวนหนึ่งซึ่งเปียกเหงื่อมือของเขาถูกแลกเป็นจักรยานคันดังกล่าว เป็นจักรยานของเพื่อนบ้าน และทุกวันนี้เขายังเก็บมันไว้
ฝันวัยเยาว์เพาะบ่มมาจาก วารสาร อสท. คอลัมน์ของ อภินันท์ บัวภักดี เล่าเรื่องการเดินทางด้วยจักรยาน จากนั้นเขานอนฝันกลางวันเคล้ากลิ่นมูลช้างเมืองสุรินทร์ “เราคิดว่า สักวันเถอะเราจะเดินทางด้วยจักรยาน อยู่อินเดียสักสองสัปดาห์ ปั่นไปอัฟกานิสถาน เรียนรู้เรื่องราวในแต่ละพื้นที่” หมาตั้งคำถามกับตน “ชีวิตสามารถเป็นแบบนั้นได้มั้ย”
ในสายตาข้าพเจ้า เขาเป็นคนขี้เล่นที่จริงจัง ในทางกลับกันเขาเป็นคนจริงจังที่ขี้เล่น ระหว่างเดินทางในสปิติวัลเลย์ เขาแต่งแต้มสีสันรอยยิ้มเพื่อนด้วยท่าเต้น เต้นแม้จะอยู่ในร้านน้ำชาที่กำลังครึกครื้นด้วยปัญจาบมิวสิก เต้นแม้นั่งบนอานจักรยาน
เย็นย่ำเมื่อถึงที่พัก เขานั่งบนพื้นพร้อมเครื่องไม้เครื่องมือและอะไหล่นานาชนิด ดูแลรถจักรยานให้เพื่อนร่วมทาง
เรียนจบ หมาเป็นวิศวกรตามสายการเรียนที่เมืองระยอง แต่หัวใจที่มีตีนสวมร้องเท้ายี่ห้อ Keen เรียกร้องเดินทางกลับกรุงเทพฯเพื่ออยู่ใกล้ครอบครัวและคนรัก
แม้ไม่โรแมนติกเหมือนน่าน ลำปาง สกลนคร ฯลฯ แต่กรุงเทพฯ คือบ้านของใครหลายคน
ลาออก สั่งอะไหล่จักรยานมาขายทางออนไลน์ เรียนรู้การซ่อมและประกอบเป็นจักรยานหนึ่งคัน กระทั่งเปิดร้านจักรยานครบวงจรย่านถนนกรุงเกษม ตั้งชื่อร้านพาดพิงตัวเอง Bok Bok Bike
แม้ Bok Bok Bike ไม่อนุญาตทำตามความฝันเดินทางรอบโลกด้วยจักรยาน เพราะภาระการงานต้องรับผิดชอบ แต่เขาไม่ทำความฝันให้เป็นบอนไซ ทยานออกเดินทางตามวาระโอกาส เหมือนดื่มเหล้าทั้งขวดพรวดเดียวไม่ได้ เขาสั่งเป็นช็อต พอให้หล่อเลี้ยงสันทนาการของชีวิต
อย่างที่กล่าวไว้ การเดินทางคือเรื่องจำเป็นของคนทำอาชีพจักรยาน คุณจะรู้จักจักรยานได้อย่างไร หากไม่เดินทางด้วยมัน
ข้าพเจ้าถามเขาด้วยโวหารโอฬาร อะไรคือหัวใจของการเดินทาง
“การปรับตัว” เขาตอบเร็วแทบไม่ต้องคิดคำนวณเพื่อประดิษฐ์คำตอบออกมาสวยหรูเหมือนคำถามที่ได้รับ
การปรับตัวของหมาหมายถึง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น มาจากคนละที่ ต่างวัย ต่างประสบการณ์ ต่างทัศนคติ ต่างรสนิยม แต่ต้องร่วมเดินทางบนเส้นทางเดียวกัน จุดหมายเดียวกัน อาจต้องกินคล้ายๆ กัน ขับถ่ายออกมาเหมือนๆ กัน นอนในอากาศเดียวกัน
“ต้องปรับตัวเข้าหาบางอย่างที่อยู่ตรงกลาง เพื่อสามารถอยู่ด้วยกันได้ แต่ถ้าปรับไม่ได้ แน่นอนมันต้องมีคนที่เดินออกไป” หมาตอบเกือบดุ แต่ข้างในนั้นตรงข้าม
กล่าวเฉพาะเส้นทางในสปิติวัลเลย์ ต้องยอมรับว่าไม่ได้มีความสะดวกสบาย บางวันอากาศหนาวเย็น บางวันร้อน บางวันฝนตก บางพื้นที่แทบไม่มีพืชดำรงได้ เหน็ดเหนื่อยบนถนนอันตราย ที่พักอาจไม่มีน้ำไฟ อาหารไม่คุ้นปาก สภาพแวดล้อมที่ทำให้ร่างกายต้องปรับตัว ความเบาบางของอากาศทำให้หายใจไม่ออก เหนื่อยง่าย
“พอคนเราสภาพร่างกายไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ จิตใจก็ตามไป ความกังวล ความอันตรายที่เราปั่นเลียบหน้าผา ต้องมีสติ สภาพความกดดัน ถ้าปรับตัวไม่ได้มันก็ไม่สนุก ถ้าปรับได้ก็สนุกสาน” ดูๆ แล้ว หมาปรับตัวได้สบาย เมื่อเราดูภาพถ่ายของเขาระหว่างปั่น
เส้นทางซึ่งเรากำลังเดินอยู่นับว่ายากลำบาก ทว่าไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้
เชอเกียม ตรุงปะ กล่าวประโยคนี้ในบริบทของการฝึกตนบนถนนชื่อชีวิต ชีวิตที่เราต้องเคลื่อนผ่านในระดับหน่วยวินาที นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี กระทั่งถึงที่หมายปลายทางซึ่งไม่รู้จะดักรอเรา ณ วินาทีไหน
แม้สปิติวัลเลย์จะเป็นเส้นทางที่ยากลำบาก เป็นเส้นทางฝึกตน แต่ “ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปด้วยกันตลอดรอดฝั่ง” หมาคิดเช่นนั้น “ไม่จำเป็น” ถ้าเราไม่สนุกเสียแล้วบนเส้นทางที่มุ่งไป
รอยข่วนในหัวใจอาจเกิดขึ้นได้เสมอในการใช้ชีวิตร่วมคนหมู่มาก ตั้งสติให้อภัยทั้งเขาและเรา ร่วมเดินทางต่อ แต่ถ้าอดทนไม่ไหวจริง มันเป็นสิทธิ์ของเราที่จะแยกย้ายโบกมือลาเพื่อนร่วมทาง ยิ้มและส่งใจให้เขาถึงจุดหมาย เราอาจมองท้ายรถจักรยานเพื่อนมุ่งไปจนลับตา แล้วพาตัวเองเข้าไปในรถบัส นั่งย้อนกลับไปยังเรคคองปีโอ นั่งรถต่อไปเดลี หาทางกลับไทย อาจดีกว่าปล่อยแต่หัวใจเดินทางกลับบ้าน ขณะร่างกายไร้ดวงใจออกเดินทางผจญภัยต่อไป
“การเดินทางมันอิสระอยู่ทุกวินาทีอยู่แล้ว” หมาบอก
สิ่งสำคัญซึ่งจำเป็นต้องมีหากเราเลือกเดินในทิศสวนทางคนหมู่มาก เรามีความกล้าหาญเพียงพอที่จะเป็นตัวของตัวเองหรือไม่ เส้นทางซึ่งเรากำลังเดินอยู่นับว่ายากลำบาก หากจะหลีกเลี่ยงเบี่ยงทางไปหนอื่น เรามีความกล้าหาญพอที่จะเป็นตัวเองหรือไม่.