เรื่อง : วรณัน รอดนิตย์
จริงหรือ…ที่สาเหตุของความขัดแย้งเกิดจากการไม่ตั้งคำถาม
เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสังคมทุกวันนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างคนสองคนไปจนถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคล สถานการณ์ความรุนแรงต่างๆ เกิดขึ้นในทุกๆ วัน แต่เราเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่าความขัดแย้งเหล่านั้นมีมูลเหตุจากอะไร เริ่มขึ้นจากตรงไหน
ในฐานะที่ยืนอยู่บนผืนแผ่นดินที่มีความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจ ความเกลียดชังต่อกัน เราจะมีส่วนช่วยในการขจัดปัญหาความเหล่านี้ได้อย่างไรให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เทศกาลหนังสือกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 ได้จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ The Lemon Tree พร้อมด้วยวงเสวนาที่ว่าด้วยเรื่อง สันติวิธี มิตรภาพ และความขัดแย้ง: จากตะวันออกกลางถึงสามจังหวัดภาคใต้ โดยสำนักพิมพ์ Way of Book ณ ร้าน Bookmoby ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
งานเสวนาครั้งนี้ประกอบด้วยผู้ร่วมสนทนา คือ อาจารย์ชูเกียรติ พนัสพรประสิทธิ์ อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางอาจารย์งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และไพรัช แสนสวัสดิ์ ผู้แปลหนังสือ The Lemon Tree ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้เขียนหนังสือ Global Report นอกจากนี้ยังมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังและพูดคุยภายในงานเสวนาครั้งนี้ด้วย
“วันหนึ่ง มีคนมาเคาะประตูบ้านครอบครัวชาวอิสราเอลซึ่งอพยพมาตั้งรกราก ณ ดินแดนปาเลสไตน์ ชายผู้นั้นแนะนำตัวเองว่า เขาเป็นลูกชายของครอบครัวชาวปาเลสติเนียนที่เคยเป็นเจ้าของเดิมบ้านหลังนี้…บ้านที่มีต้นมะนาวต้นหนึ่งปลูกไว้ในสวน”
The Lemon Tree เป็นหนังสือเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล ดำเนินเรื่องผ่านชายชาวปาเลสติเนียนและหญิงชาวอิสราเอล จุดเริ่มต้นของมิตรภาพและความสัมพันธ์ของทั้งคู่เกิดขึ้นท่ามกลางความเกลียดชังและความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานหลาย 10 ปี ระหว่างคนทั้งสองฝ่าย
ผลงานสารคดีชิ้นนี้เขียนโดย Sandy Tolan ผู้ลงลึกในรายละเอียดข้อเท็จจริง ละเว้นการใส่จินตนาการในการนำเสนอ โดยหนังสือ The Lemon Tree ได้ถูกนำมาแปลฉบับภาษาไทยโดย ไพรัช แสนสวัสดิ์ ผู้เคยฝากผลงานแปลหนังสือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี (Bury My Heart at Wounded Knee)
+ ไพรัช แสนสวัสดิ์ – ผู้แปล
“Sandy Tolan เลือกที่จะหยิบยกแง่มุมของความเป็นมนุษย์มานำเสนอ โดยดำเนินเรื่องให้เห็นถึงความพยายามของชายชาวปาเลสไตน์และหญิงชาวอิสราเอลที่พยายามจะเข้าใจกัน บนความขัดแย้งของคนทั้งสองชนชาติ”
ไพรัช เริ่มต้นเล่าถึงเหตุผลที่เลือกแปลหนังสือ The Lemon Tree เขาเล่าว่าเมื่อ 2 ปีก่อนได้มีโอกาสทำความรู้จักหนังสือ The Lemon Tree ผ่านทางเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่ชักชวนให้อ่าน เขายอมรับว่าห้วงความคิดแรกก่อนเปิดหนังสือ The Lemon Tree คือความคิดที่ว่าการเล่าเรื่องของนักเขียนชาวอเมริกันอย่าง Sandy Tolan คงมีกลิ่นอายการดำเนินเรื่องที่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายการก่อตั้งประเทศอิสราเอล เหมือนเช่นหนังสืออีกหลายเล่มที่เขียนโดยนักเขียนอเมริกัน
“จากประสบการณ์การอ่านหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนอเมริกัน หรือหนังสือที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ มักพบเจอกับเนื้อหาในแง่มุมของการไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนทั้งสองประเทศ หรือผู้เขียนอเมริกันส่วนใหญ่มักเขียนหนังสือในลักษณะที่มีแนวโน้มเข้าข้างฝ่ายอิสราเอล จึงคิดว่าหนังสือ The Lemon Tree เล่มนี้ คงเป็นอีกเล่มหนึ่งที่มีการถ่ายทอดเนื้อหาดังเช่นหนังสือเล่มอื่นที่เคยได้ผ่านสายตา” ผู้แปลหนังสือบอกแบบนั้น
แต่เมื่อมีโอกาสได้ใกล้ชิดหนังสือเล่มนี้อย่างจริงจัง ไพรัชกลับพบว่ามีสิ่งที่ก่อให้เกิดการสะดุดในความคิด และเกิดเป็นความประทับใจในลำดับถัดมา เพราะถึงแม้เนื้อหาภายในหนังสือจะเกี่ยวข้องกับประเด็นความขัดแย้งของปาเลสไตน์และอิสราเอล แต่เนื้อความในเล่มมีความต่างจากหนังสือเล่มอื่นอยู่มาก เพราะ Sandy Tolan เลือกที่จะหยิบยกแง่มุมของความเป็นมนุษย์มานำเสนอ โดยดำเนินเรื่องให้เห็นถึงความพยายามของชายชาวปาเลสไตน์และหญิงชาวอิสราเอลที่พยายามจะเข้าใจกัน บนความขัดแย้งของคนทั้งสองชนชาติ
ทั้งยังมีการนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่พบเจอ หรือจากการเสาะหาข้อมูลในเชิงลึกมาเล่าผ่านตัวหนังสือ แม้ว่าสถานการณ์ของทั้งสองชนชาตินี้จะมีความรุนแรงเพียงใด แต่ Sandy Tolan กลับเลือกนำเสนอเนื้อหาของเหตุการณ์จริงที่เกิดบนความขัดแย้งด้วยความบาลานซ์ ปราศจากจินตนาการแต่งเติม
“นอกจาก Sandy Tolan จะหยิบยกเรื่องความเป็นมนุษย์นำมาเป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่องแล้ว การเรียงร้อยถ้อยคำ หรือเรื่องราวของเหตุการณ์ความขัดแย้งยังสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้อย่างน่าสนใจและน่าติดตาม เกิดเป็นความประทับใจจนเป็นสาเหตุหนึ่งของการเลือกถ่ายทอดเรื่องราวของ The Lemon Tree ให้เป็นภาษาไทย”
+ ชูเกียรติ พนัสพรประสิทธิ์
“บทคัดย่อของหนังสือ The Lemon Tree พยายามปูพื้นให้เห็นภาพความหวังที่จะทำให้คนสองชนชาตินี้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขบนผืนแผ่นดินปาเลสไตน์ ซึ่งมีต้นมะนาวเป็นจุดเชื่อมโยงบนความขัดแย้ง”
อาจารย์ชูเกียรติบอกว่า หลังจากได้อ่านบทคัดย่อของหนังสือ The Lemon Tree มันทำให้เขาทราบถึงภาพรวมของหนังสือ ที่มีลักษณะของการดึงเอามิติเรื่องของมนุษย์นำมาผูกติดกับเรื่องราวความเป็นจริง ความขัดแย้ง และความหวังในการแก้ไขปัญหาของระหว่างคนทั้งสองชนชาติ โดยการแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นไปโดยทางสันติวิธี ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้ยังมีน้อยมากสำหรับนักเขียนตะวันตก
หากเปรียบเทียบประเด็นความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลกับประเด็นทางสามจังหวัดชายแดนใต้ คนในสังคมไทยให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองน้อยมาก หรืออาจไม่ให้ความสนใจเลยด้วยซ้ำ อาจารย์ชูเกียรติ มองว่าลักษณะความเฉยชาต่อเหตุการณ์ต่างๆ ของคนในสังคมไทยและเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่คลาสสิก
“ประเด็นนี้เป็นปัญหาความขัดแย้งที่ค่อนข้างคลาสสิกกว่าปัญหาความขัดแย้งอื่นๆ ในตะวันออกกลาง เพราะปัญหาเริ่มก่อตัวขึ้นจากการก่อตั้งประเทศอิสราเอลเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้ปัญหาความบาดหมางระหว่างฝ่ายอิสราเอลและฝ่ายปาเลสไตน์เริ่มปะทุขึ้นอย่างรุนแรง
“นับเป็นปัญหาที่มีความคาราคาซังมานานกว่า 70 ปี จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่พบทางออกของปัญหา แต่ความเกี่ยวพันกันระหว่างการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับการเมืองภายในของอิสราเอลและการเมืองภายในของสหรัฐอเมริกานั้น จะสามารถเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าทางออกของปัญหาจะมีมากขึ้นหรือน้อยลง”
อาจารย์ชูเกียรติ กล่าวต่อว่า ประเด็นความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาระหว่างการสู้รบของทหารทั้งสองฝ่าย แต่ยังมีความรุนแรงในทางการเมืองที่มีลักษณะของการก่อการร้าย การลอบสังหาร หรือการปะทะกันตามพรมแดนอยู่ตลอดเวลา ระดับของความรุนแรงทางการเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาความขัดแย้ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบอกจุดเริ่มต้นและจุดจบของปัญหาได้
ประเด็นปัญหาเหล่านี้จึงถือได้ว่าเป็นปัญหาที่มีความคลาสสิก เพราะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันทางมิติทรัพยากร ดินแดน เชื้อชาติ และภูมิศาสตร์ในบริเวณตะวันออกกลาง เมื่อปัญหาก่อตัวขึ้นและยังไม่ได้รับการแก้ไข คนในชาติจึงต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาเหล่านี้มากยิ่งขึ้น เช่น การหันมาตระหนักและใส่ใจในสภาพปัญหา ไม่เฉพาะจงเจาะแค่ชนชาติอิสเราเอลและปาเลสไตน์ แต่ยังรวมถึงคนไทยที่จะต้องหันมามองความขัดแย้งทางสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ความสูญเสียชีวิตผู้คนบริสุทธิ์ไปไม่น้อย
ขณะเดียวกันอาจารย์ชูเกียรติ ในฐานะอาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาของคนไทยที่เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ทางสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือแม้แต่ปัญหาแวดล้อมรอบตัว
“เยาวชนไทยในปัจจุบัน ยังขาดการพินิจพิเคราะห์ ขาดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมไทย และคำสอนของศาสนาพุทธที่สอนให้เราเดินทางสายกลาง แล้วการที่เยาวชนไทยดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการตั้งคำถามหรือสงสัยในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันเป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุง
“หากผมมีโอกาสเมื่อไร ก็จะพยายามกระตุ้นให้เยาวชน หรือลูกศิษย์ หัดเป็นคนที่รู้จักพินิจพิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อไรที่การวิพากษ์วิจารณ์ได้เกิดขึ้น เมื่อนั้นก็จะเกิดคำถามต่างๆ ตามมา และเมื่อเกิดคำถามตามมา จึงทำให้เกิดความต้องการที่จะค้นหาคำตอบ และค้นหาตัวเองอยู่ตลอดเวลา”
+ งามศุกร์ รัตนเสถียร
“ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ แต่เราจะจัดการกับความขัดแย้งอย่างไร โดยไม่ต้องฆ่ากัน สิ่งนี้คือสิ่งที่ท้าทายสำหรับมนุษย์”
อาจารย์งามศุกร์อธิบายว่า เนื้อหาภายในหนังสือ The Lemon Tree ช่วงแรกพยายามเดินเรื่องให้เห็นถึงภาพประวัติศาสตร์ของการอยู่ร่วมกันของคนยิวและคนอาหรับตั้งแต่สมัยออตโตมัน จนมาถึงช่วงที่อังกฤษเข้ามาปกครอง
ซึ่งช่วงที่อังกฤษเข้ามาปกครองนั้นทำให้เกิดบาดแผลระหว่างคนยิวและคนอาหรับ ทั้งประเด็นในเรื่องของอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ความแตกต่างซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน จึงนำมาสู่ความรุนแรงและการขัดแย้งกันได้ง่ายขึ้น
“การอ่านหนังสือเล่มนี้ ทำให้ได้เห็นบรรยากาศ เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ตะวันออกกลางในปาเลสไตน์และในอิสราเอล” อาจารย์งามศุกร์กล่าว
หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นเรื่องราวจากจุดเล็กๆ ของการพบเจอกันระหว่างคนต่างชนชาติคือ ดาเลีย เอชเคนนาซี แลนเดา (Dalia Ashkenazi Landau) หญิงสาวชาวยิว และ บาเชียร์ อัลไครี (Bashir Al-Khayri)ชายชาวอาหรับ ทั้งสองได้มีโอกาสพูดคุยกัน ได้ยินเสียงของกันและกัน ได้สัมผัสถึงความเป็นมนุษย์บนความแตกต่าง ซึ่งนั่นคือจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้
ความขัดแย้งของคนทั้งสองชนชาติระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เป็นความขัดแย้งที่หยั่งรากลึก และยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน เฉกเช่นเดียวกันกับสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย
“ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ แต่เราจะจัดการกับความขัดแย้งอย่างไร โดยไม่ต้องฆ่ากัน สิ่งนี้คือสิ่งที่ท้าทายสำหรับมนุษย์”
ย้อนหลังไปในปี พ.ศ. 2547 เหตุการณ์ความขัดแย้งภายในสามจังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นข้อพิพาทที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ความรุนแรงเริ่มย่างก้าวเข้ามากระทบต่อตัวผู้คนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น ผู้บริสุทธิ์ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยพุทธที่สามารถรับรู้ถึงความรุนแรงที่กำลังตามล่าพวกเขา อย่างไม่รู้จักจบสิ้นมาจนถึงปัจจุบัน
อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่าปัญหาการไม่เข้าใจกันของคนทั้งสองฝ่ายในชายแดนใต้ เกิดขึ้นมานานนับปี จนปัจจุบันก็ยังคงถูกปล่อยให้คาราคาซัง ซึ่งวิธีที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งประชาชนในระดับล่างตลอดจนคนในระดับสูงที่ต้องหันหน้ามาเจรจากัน เพื่อยุติความขัดแย้ง และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมาใหม่
The Lemon Tree เล่มนี้ก็พยายามดำเนินเรื่องให้คนอ่านเห็นถึงความสัมพันธ์อันดี ของ ดาเลีย และ บาเชียร์ แต่หลังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น หญิงชาวยิวกลับยิงคำถามตั้งแง่ต่อชายชาวอาหรับและหมดความเชื่อมั่นในความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกัน ท้ายที่สุดหญิงชาวยิวเลือกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวโดยใช้แนวทางสันติวิธี เธอพูดย้ำอยู่เสมอว่า ในฐานะที่เราเป็นปัจเจก เราควรหันกลับมาเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน ควรมีความประนีประนอมต่อกันมากขึ้น
ดังนั้นประวัติศาสตร์ของหญิงชาวยิวจึงยังคงอยู่ในดินแดนของปาเลสไตน์ เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ของชายอาหรับก็ยังคงอยู่ ณ ดินแดนเดียวกัน ประวัติศาสตร์ของทั้งสองชนชาติต้องวางอยู่คู่กัน และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแยกประวัติศาสตร์ของสองประเทศออกมาเป็นหนึ่งเดียวดังที่กำลังกระทำกันในปัจจุบัน
สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้มีความเหมือนกับสถานการณ์ความขัดแย้งของอิสราเอลและปาเลสไตน์ เพราะความพยายามที่จะมีประวัติศาสตร์ชุดเดียว ซึ่งปัญหาของสังคมไทยคือปฏิเสธและไม่ยอมรับประวัติศาสตร์ที่ว่าปัตตานีมีรัฐมาตั้งแต่เดิม เพราะฉะนั้นทางออกหนึ่งของปัญหาคือการยอมรับประวัติศาสตร์ของผู้อื่น
ดาเลีย ได้พูดไว้ในหนังสือว่า เราต้องยอมรับว่ายิวทำความผิดพลาดอย่างไรกับปาเลสไตน์ ใช้ความรุนแรงมากเพียงใด สิ่งสำคัญสิ่งนี้ที่จะเป็นตัวการที่จะพาเราข้ามพ้นไปจากความรุนแรงที่เรากำลังเผชิญอยู่ นอกจากการยอมรับแล้ว การให้อภัยซึ่งกันและกันยังเป็นสิ่งที่ทำให้คนทั้งสองชนชาติกลับมาเข้าใจกันบนพื้นฐานความแตกต่างทางอัตลักษณ์
อาจารย์งามศุกร์แสดงทัศนะถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างอาหรับและยิวว่า สองชนชาตินี้มีความแตกต่างกันทางด้านสายอนุรักษนิยมและสายเสรีนิยม หากมีการแบ่งอัตลักษณ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็จะยิ่งมองไม่เห็นจุดร่วมของสองชนชาติ เพราะในความเป็นอาหรับก็ยังคงมีความเป็นยิว ทั้งสองชนชาติต่างก็มีจุดร่วมซึ่งกันและกัน แต่หากเลือกที่จะทำให้อัตลักษณ์มีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้นเมื่อไหร่ ก็จะกลายเป็นความขัดแย้งทันที
“เราต้องเห็นมิติอื่นๆ ของกันและกัน เราอาจจะมีความกลัวเหมือนกัน ขณะที่ยิวก็กลัวว่าตนเองจะสูญเสียบ้าน แต่ในขณะที่คนปาเลสไตน์ก็กลัวสิ่งที่เหมือนกันกับยิว ต่างฝ่ายต่างมีความกลัวซึ่งกันและกัน”
ความกลัวเกิดจากการขาดการปฏิสัมพันธ์กัน เกิดจากความไม่เข้าใจ เกิดจากจินตนาการ อีกทั้งเราไม่ได้ให้ความสำคัญในการเรียนรู้กันและกัน นั่นเป็นสาเหตุที่ทำเราต้องกลับมาคุยกับตัวเอง ว่าเรามีความรู้สึกอย่างไร เราสงสัยอะไร เราคิดอย่างไรกับฝ่ายตรงข้าม
“การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จะช่วยสลายความเป็นอัตลักษณ์ด้านเดียวของเรา ทำให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ เพิ่มมากขึ้น”
สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยิ่งทำให้ประชาชนต้องหัดคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งอาจารย์งามศุกร์ให้ความเห็นในเรื่องนี้โดยใช้หลักคำของศาสนาว่า
“หากเรามองย้อนกลับมายังโลกของพระพุทธศาสนา เราจะพบว่ายังมีหลักกาลามสูตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักพื้นฐานในการเกิดกระบวนการคิดและการตั้งคำถาม กาลามสูตรสอนให้เราไม่เชื่อตัวของเราเอง และไม่เชื่อแม้กระทั่งอาจารย์ผู้สอน แม้กระทั่งศีล 5 เองก็เป็นอีกหลักธรรมหนึ่งที่เป็นหลักการพื้นฐานในเรื่องของสันติวิธี โดยที่คนในสังคมไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนักกับเรื่องเหล่านี้”
ก่อนปิดวงเสวนา อาจารย์งามศุกร์กล่าวปิดท้ายว่า
“ชื่นชมผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ในการค้นคว้าหาข้อมูลเชิงลึก มีการเข้าไปค้นในห้องสมุด เพื่อหาเหตุการณ์ที่มีความน่าสนใจ แล้วนำออกมาเขียนเป็นเรื่องราวของชายอาหรับและหญิงยิว หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเล่าที่ทรงพลัง ใจความสำคัญของการดำเนินเรื่องไม่ได้เป็นเรื่องราวของยิวกับของอาหรับอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องของเรา
“สันติวิธีไม่มีอะไรตายตัว หากคุณไม่ใช้ความรุนแรง คุณจะสร้างสรรค์วิธีแก้ไขสถานการณ์นั้นอย่างไร สิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักรู้ท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรงคือเรามีเพื่อน แล้วเราต้องคิดว่าจะอยู่อย่างไรให้ปลอดภัยเหมือนกัน เพราะเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่อนั้นเราก็ต้องเริ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อที่จะรักษาชีวิตของเราและชีวิตของคนอื่นด้วย”
***********
หมายเหตุ: งานเปิดตัวหนังสือ The Lemon Tree และวงเสวนา สันติวิธี มิตรภาพ และความขัดแย้ง: จากตะวันออกกลางถึงสามจังหวัดภาคใต้
จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ณ เทศกาลหนังสือกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1