THERE’S ALWAYS SPRING: จากความทรงจำถึงหนังสือภาพ ราษฎรยังไม่ตาย และดอกไม้จะบานในไม่ช้า

2 ปีก่อน กลุ่มราษฎรนัดรวมตัวบริเวณสามย่าน ก่อนเคลื่อนตัวไปตามถนนพระราม 4 มุ่งหน้าสู่ถนนสาทรใต้ จากนั้นหัวขบวนหยุดบริเวณสถานทูตเยอรมัน

ในวันนั้น มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ วรินท์ แพททริค แม็คเบลน 3 แกนนำ ยื่นแถลงการณ์ต่อเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย นับเป็นการดันเพดานข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไทยอย่างถึงแก่น

วานนี้ (26 ตุลาคม) หรือ 2 ปี นับจากการชุมนุมที่สถานทูตเยอรมัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน  (iLAW) เปิดตัวหนังสือภาพ There’s Always Spring – เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน ร่วมเขียนโดยอาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุม ภายใต้โครงการ ‘Mob Data Thailand’

ไม่เพียงม็อบคณะราษฎร แต่ทีมสังเกตการณ์หรือ ‘observer’ ยังได้บันทึกข้อมูลและถ่ายภาพของม็อบต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2564 จำนวน 1,516 ครั้ง ใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ (ข้อมูลวันที่ 27 ตุลาคม 2565) ทั้งม็อบใหญ่และม็อบเล็ก ทั้งขั้วการเมืองฝ่ายประชาชนและขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม ข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกรวบรวมมาจัดแสดงผ่านเว็บไซต์ mobdatathailand.org กระทั่งคณะทำงานฯ เห็นว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจมากพอแล้ว จึงหยิบเหตุการณ์เหล่านั้นบางส่วนมาตีพิมพ์ในรูปแบบ ‘หนังสือภาพ’ ขนาดกะทัดรัด เปรียบเสมือนหลักฐานลายลักษณ์อักษรของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยอันร้อนฉ่าของสังคมไทย 

“เราไม่ได้เก็บเฉพาะข้อมูลประเภท ใครทำอะไร ที่ไหน หรือเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง แต่เรายังเก็บตัวอย่างน้ำที่ใช้สลายการชุมนุมว่า มีสารประเภทใดเป็นส่วนประกอบบ้าง” อาสาสมัครคนหนึ่งเล่าถึงการทำงานของทีมอาสาสมัครสังเกตการณ์

“ขณะสังเกตการณ์ม็อบ เราถ่ายรูปติดน้องมัธยมคนหนึ่ง น้องยังสะกิดเราว่า พี่ถ่ายเด็กไม่ได้นะ มันผิดกฎหมาย เราก็โอเค สิ่งนี้บอกเราว่า เด็กรุ่นใหม่เขาตื่นตัวเรื่องสิทธิกันจริงๆ” อาสาสมัครอีกท่านแลกเปลี่ยนประสบการณ์

ภายใต้ข้อสังเกตที่ว่า “ม็อบราษฎรตายแล้วหรือไม่” คำตอบบางรูปแบบสัมพันธ์กับจำนวนการชุมนุมที่ลดลง ขณะที่บางคำตอบอาจอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เพราะมันคือ ข้อพิสูจน์ชั้นดีว่า ครั้งหนึ่ง (และยังคง) มวลชนมีพลังทางสังคมมากพอจนสั่นคลอนโครงสร้างศักดิ์สิทธิ์ และมีพลังมากพอจนทำให้เผด็จการอยู่ไม่สุข

กระนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากเทียบปี 2563 กับปีปัจจุบัน ความคึกคักทั้งในเชิงปริมาณและมวลอารมณ์ของม็อบขาดหายไปพอสมควร

ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว ชี้ว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเคลื่อนไหวในปี 2565 ดูอ่อนแรงลง คือการถูกดำเนินคดีความต่อผู้ชุมนุมขนานใหญ่ และ การใช้ ‘กำไล EM’ เป็นเงื่อนไขประกันตัวของผู้ต้องหาในคดีทางการเมือง ซึ่งนับเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตอย่างมาก “ถึงแม้ว่าจะไม่มีการชุมนุม แต่รูปแบบการเคลื่อนไหวทางการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว เรามีโอกาสเดินสายไปเลคเชอร์ให้น้องๆ ในคลาสเรียน  ความคิดทางการเมืองเขาเปลี่ยน เขาตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ที่ไปไกลกว่าเส้นที่เราเรียกร้องตอนปี 63-64 สำหรับรัฐ มันน่ากลัวนะ ถ้าไม่มีการชุมนุมบนท้องถนน แต่รูปแบบความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองถูกขยายด้วยวิธีการอื่น”

“ตั้งแต่ปี 63 ถึง 64 เพดานถูกผลักจนทุกคนควานหาคำตอบด้วยตัวเองแล้ว อาวุธทางความคิดที่เราเปิดประเด็นไป มันฝังอยู่ในตัวของมวลชนแล้ว” มายด์-ภัสราวลี  แสดงทัศนะต่อโมงยามปัจจุบัน “หลายคนอาจมองว่า ปี 65 ไม่มีม็อบเลย แต่มายด์กลับมองว่า มันแสดงออกมาในรูปแบบอื่นๆ มากกว่า อย่างกรณี ‘6 ตุลา’ ครบรอบ ‘ปี 53’ หรือกระทั่งเหตุการณ์ตากใบ ก็มีการจัดกิจกรรมเยอะมากๆ นั่นหมายความว่าประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น” 

ขณะที่ อานนท์ นำภา เสริมประเด็นนี้ว่า “ผมคิดว่าทุกคนกำลังตกผลึกและสั่งสมอารมณ์ เพื่อที่จะปลดปล่อยออกมาอีกครั้งหนึ่ง ผมกล้าพูดนะว่า ม็อบที่ใหญ่ที่สุดไม่ใช่ปี 63 ไม่ใช่ปี 64 แต่จะเป็นปี 66 หรือ 67 ก็ได้” อานนท์เปรียบเทียบพลังประชาชนกับ ‘ดาว’ ที่ยังดำรงอยู่เสมอ แม้เราจะมองไม่เห็นหรือกระทั่งไม่ใส่ใจมองมันในเวลากลางวัน แต่ยามกลางคืนดาวก็จะปรากฏสว่างชัดอีกครั้ง พร้อมทิ้งท้ายว่า “ฝั่งประชาธิปไตยไม่มีวันเปลี่ยนไปเป็นเผด็จการแน่นอน” 

“ทุกคนคือมนุษย์ คนที่ต่อสู้ เหนื่อยก็พัก ผิดหวังก็กลับไปสร้างความหวังใหม่ วันนี้มันยังมีคนสู้อยู่ ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น โอเค มันอาจน้อยลงในเชิงปริมาณ แต่ตราบใดที่ยังมีความอยุติธรรมอยู่ มันก็จะมีคนออกมาร่วมต่อสู้ ออกมาหาเพื่อน และหาแนวร่วมในการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี” ไผ่-จตุภัทร์ กล่าวต่อไปว่า “มันยังมีคนไปต่อ เราอาจไม่ได้ยืนอยู่บนเวทีปราศรัย แต่เรายังสู้ในบทบาทอื่น… จังหวะนี้ ทุกคนกำลังพัก เก็บแรง สั่งสมประสบการณ์ ศึกษาประวัติศาสตร์ และพยายามคิดเครื่องมือต่อสู้รูปแบบใหม่ๆ” 

“ถ้าเห็นสถานการณ์หลายๆ อย่างในประเทศ สถาบันบ้านเรามันพังไปหมดแล้ว เหลือเพียงสถาบันเดียวที่ยังมีความหวังก็คือ สถาบันของประชาชน เพราะฉะนั้น รอให้ทุกคนมีแรงกลับมา ทุกคนเป็นเจ้าของความหวังอยู่แล้ว ประเทศนี้เป็นของทุกคน” ไผ่ทิ้งท้าย

ทั้งนี้ นักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมมากหน้าหลายตาได้เข้าร่วมงานเปิดตัวหนังสือ There’s Always Spring – เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน อาทิ เอกชัย หงส์กังวาน, อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, อาเล็ก-โชคดี ร่มพฤกษ์ รวมถึงยังมีประชาชนท่านอื่นๆ ที่สนใจเหตุการณ์ทางการเมืองเข้าร่วม ทำให้บรรยากาศงานเปิดตัวหนังสือครั้งนี้อบอุ่นชื่นมื่น นอกจากวงเสวนาถึงเหตุการณ์การชุมนุมที่ผ่านมาแล้ว พื้นที่ห้องโถงของ กาลิเลโอเอซิส (GalileOasis) ได้ถูกเปลี่ยนเป็นนิทรรศการจัดแสดงสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2563 เช่น ป้ายประท้วง ปลอกกระสุนยาง กระป๋องแก๊สน้ำตา และเป็ดเหลือง ซึ่งสะท้อนทั้งความ ‘ออร์แกนิก’ ของม็อบ และความ ‘รุนแรง’ ของรัฐ

และพระเอกของงานคือ หนังสือ There’s Always Spring – เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน ได้บรรจุเหตุการณ์การต่อสู้และแสดงออกทางการเมืองของประชาชนเอาไว้ตั้งแต่ม็อบ ‘วิ่งไล่ลุง’ ปี 2562 เรื่อยมาจนถึงการต่อสู้ที่อาจจะดูเงียบในปี 2565 แต่กลับปรากฏผ่านตัวเลขความเสียหาย การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีอีกหลายชีวิต 

‘พระเอก’ คนนี้ก็เล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่ายเป็นหลัก ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องย้ำเตือนความทรงจำที่ควรค่าแก่การเก็บรักษาสำหรับผู้เคยผ่านประสบการณ์ร่วมกับม็อบ และยังเปรียบเสมือนหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจให้คนในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าจำได้ว่า ต้นทศวรรษ 2560 เกิดอะไรขึ้นบ้างในภูมิทัศน์การเมืองไทย

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า