ธุรกิจจริตเวเน เบื้องหลังดาร์กๆ ของโรงงานผลิตนางงาม

‘ไม่จม ไม่หาย ไม่ตายลาติน’ วลีฮิตในการอวยยศนางงามไทยแบบจับใจแม่ โดยเทียบกับนางงามจากประเทศแถบลาตินอเมริกา เพราะนางงามลาตินส่วนใหญ่มีมาตรฐานสูงทั้งเรื่องของ performance และไหวพริบในการตอบคำถาม เรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งที่ต้องระแวดระวังกันทุกปี

ประเทศแถบลาตินอเมริกาเป็นสัญลักษณ์ของการส่งออกนางงาม ซึ่งสามารถเข้ารอบลึกในการประกวดเวทีนางงามระดับ Grand Slam (เวทีการประกวดระดับนานาชาติ) หลายปีติดต่อกัน แม้ว่าสถิติการประกวดนางงามเวทีใหญ่ที่แฟนคลับทั่วโลกให้ความสนใจล้นหลามอย่าง Miss Universe จะมีประเทศที่คว้ามงกุฎได้มากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา 9 สมัย ตามด้วยประเทศแถบลาตินอย่างเวเนซุเอลาที่มีสถิติการคว้ามงกุฎเวทีดังกล่าว 7 สมัย

สิ่งที่น่าสนใจคือหากเปิด Google แล้วลองเคาะแป้นพิมพ์ว่า ‘มหาอำนาจแห่งวงการนางงาม’ เวเนซุเอลาจะเป็นประเทศแรกที่เด้งขึ้นมาบนหน้าจอ ซึ่งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมากลายเป็นประเทศที่คร่ำหวอดในวงการนางงาม สร้างมาตรฐาน ‘จริตเวเน’ เพราะนอกจากการคว้ามงกุฎจากเวที Miss Universe ได้ถึง 7 สมัยแล้ว ยังสามารถคว้ามงกุฎจากเวที Miss Internationnal 9 สมัย Miss World 6 สมัย และ Miss Grand อีก 1 สมัย ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่ได้คว้ามงกุฎเวทีระดับ Grand slam มากที่สุด

นางงามจากเวเนซุเอลาจะต้องผ่านหลักสูตรการเตรียมความพร้อมในโรงเรียนนางงามอย่างเข้มข้น ภายใต้ความเชื่อที่ว่าความงามที่สมบูรณ์ต้องมาจากการบริหารเสน่ห์ด้วย แต่เมื่อลองมองเข้าไปถึงเบื้องลึกเบื้องหลังตำนานจริตเวเนกลับไม่ได้สวยงามอย่างที่เห็นหน้าเวที

ผู้มีอิทธิพลแห่งวงการนางงาม 

ธุรกิจผลิตนางงามเฟื่องฟูอย่างมากในเวเนซุเอลา โดยเฉพาะภายใต้อิทธิพลในการกำหนดมาตรฐานความงามของ โอสเมล โซว์ซา (Osmel Sousa) ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้นางงามที่อยู่ในความดูแลเข้ารอบลึกๆ ทั้งยังได้ดำรงตำแหน่งประธานกองประกวดนางงามเวเนซุเอลาในปี 1981 และยาวนานถึง 3 ทศวรรษ

โซว์ซา ยังเป็นคีย์สำคัญของการปลุกปั้นสาวงามจากเวเนซุเอลาจนสามารถคว้ามงกุฎจากเวทีระดับ Grand Slam จำนวนไม่น้อย นางงามที่เขามองเห็นศักยภาพในการประกวด จะต้องผ่านหลักสูตรการเตรียมตัวในโรงเรียนสอนนางงามของเขาอย่างเคร่งครัด มีการอบรมตั้งแต่การพูด ท่าเดิน ท่าโพส การดูแลรูปร่าง ไปจนถึงแนะนำให้ศัลยกรรมทั้งหน้า เพื่อให้ได้มาตรฐานความงามตามที่เขาต้องการ

โอสเมล โซว์ซา (Osmel Sousa)

แน่นอนว่าทัศนะของโซว์ซา กลายเป็นเหตุผลให้นักสตรีนิยมในเวเนซุเอลาไม่พอใจ จนเกิดความพยายามประท้วงต่อต้านการนิยามความงามที่ผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวเมื่อปี 1972 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการถ่ายทอดสดการประกวด Miss Venezuela ผ่านทางโทรทัศน์ The Socialist Women’s League และหายไปอย่างเงียบๆ ในปี 1974 

สายพานการผลิตความงามในอุดมคติ

แม้ว่าปัจจุบันโซว์ซาจะวางมือไปแล้วจากแวดวงธุรกิจนางงาม แต่ค่านิยมความงามที่เขาทิ้งเอาไว้ในช่วงที่มีอิทธิพลในวงการ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันยังทำงานได้เป็นอย่างดีในสังคมเวเนซุเอลา โรงเรียนสอนนางงามยังคงมีความสำคัญและมีบทบาทอย่างมากในการผลิตนางงามให้มีความงามตามอุดมคติ

“ฉันไม่เชื่อว่าเวเนซุเอลามีผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก แต่เรารู้วิธีที่จะ ‘ผลิต’ ผู้หญิงที่สวยงามและสมบูรณ์แบบ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงเป็นเลิศในการแข่งขัน”

เป็นคำบอกกล่าวของ อเล็กซานเดอร์ เวลาสเควซ (Alexander Velasquez) ผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกสอนนางงามแห่งหนึ่งในเวเนซุเอลาที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ Daily Mail พร้อมกับยืนยันว่าโรงเรียนเหล่านี้ดีสำหรับการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ ผ่านการส่งออกนางงามสู่เวทีโลก และยอมรับว่าพ่อแม่ของนักเรียนส่วนใหญ่มีรายได้น้อยเฉลี่ยเพียง 50 ดอลลาร์ต่อเดือน (ประมาณ 1,773 บาท) โดยพวกเขาเชื่อว่าหากวันหนึ่งถ้าลูกๆ ประสบความสำเร็จจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงเป็นที่มาของการที่ใครๆ ต่างก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนกับความงาม แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นกับเด็กก็ตาม

Daily Mail ยังได้รายงานไว้อีกว่า ผู้ปกครองของเด็กหญิงวัย 8-9 ปี มักให้เด็กฉีดฮอร์โมนชะลอการเข้าสู่วัยรุ่น เพื่อให้ร่างกายจะได้ไม่หยุดสูง เด็กบางคนที่อายุเพียง 12 ปี ต้องไปฉีดสารเสริมก้น ศัลยกรรมจมูก และมีเด็กที่อายุน้อยที่สุดถึง 4 ปี เข้าไปฝึกฝนในโรงเรียนสอนนางงาม 

เหมือนอย่างที่ วีเมย์ นาวา (Wi May Nava) ผู้เข้าประกวด Miss Venezuela ปี 2013 เคยออกมายอมรับกับสำนักข่าว BBC ว่าเธอเย็บแผ่นพลาสติกทอเส้นตาข่ายไว้ที่ลิ้นเพื่อควบคุมการกินอาหารของตัวเอง ทำให้สามารถลดน้ำหนักได้อย่างรวดเร็ว

ถึงอย่างไรการประกวดนางงามก็ยังเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจและถูกให้ค่าในเวเนซุเอลา เพราะในอีกมิติหนึ่งถูกมองว่าเป็นหนทางในการหลุดพ้นจากความยากลำบาก ในช่วงเวลาที่ประเทศรายล้อมไปด้วยปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง จึงทำให้ความนิยมของการประกวดนางงามในเวเนซุเอลาไม่เคยลดลง หนำซ้ำยังเรียกได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของชาวเวเนซุเอลาอีกด้วย

ที่มา:

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า