ในรอบหลายปีที่ผ่านมา การศึกษาไทยต้องเผชิญกับความเสื่อมถอยอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา โครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล หรือ Programme for International Student Assessment (PISA) พบว่า คะแนนสอบ PISA ของเด็กไทยในหลากหลายวิชาตกตํ่ามากที่สุดในรอบ 20 ปี โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน แม้เด็กไทยจะมีชั่วโมงการเรียนการสอนมากติดอันดับโลกก็ตาม
จากผลคะแนน PISA ที่ปรากฏเช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายโฟกัสไปที่หนึ่งในใจกลางปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาไทยคือ ‘ครู’ ที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นเสียงสะท้อนที่หลากหลายของระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูที่ไม่สามารถสอนได้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากต้องรับภาระด้านธุรการและกิจกรรมโครงการต่างๆ ของโรงเรียน รวมไปถึงพฤติกรรมอำนาจนิยมที่ไม่พึงประสงค์ของตัวครูเองที่ถูกตั้งคำถามโดยสังคมอย่างต่อเนื่อง
เมื่อ ‘วันเด็กแห่งชาติ’ ที่ผ่านมา Rocket Media Lab ยูนิตวิจัยเอกชน ร่วมกับ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (Path2health Foundtion) ได้เปิดผลสำรวจแบบสอบถามความคิดเห็น ‘เด็กไทยอยากได้อะไรจากระบบการศึกษา’ จากนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในช่วงระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 1,985 คนจากทั่วประเทศ ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) จำนวน 199 คน และไม่ต้องการระบุเพศ 51 คนด้วย
ภาพรวมของเสียงสะท้อนจากแบบสอบถามนี้ให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา กฎระเบียบ การเรียนการสอน และครู โดยเด็กนักเรียนต้องการให้มีการปรับปรุงห้องนํ้าให้สะอาด การลดชั่วโมงเรียนลง ยกเลิกการกำหนดทรงผม วิชาลูกเสือ และยกเลิกกิจกรรมหน้าเสาธง
ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ‘ครู’ เป็นหนึ่งในประเด็นที่ร้อนแรงประเด็นหนึ่ง โดยแบบสอบถามได้ถามว่า ‘การลงโทษของครูแบบไหนที่ไม่ชอบมากที่สุด’ ผลสำรวจ 3 ลำดับแรก พบว่า
- 39.14% การประจานต่อหน้าเพื่อน
- 17.93% ด่าทอด้วยคำหยาบคาย
- 12.49% กล้อนผม/ตัดผม
เมื่อถามว่า ‘เรื่องที่อยากให้ครูเข้าใจและช่วยเหลือมากที่สุด’ เด็กนักเรียนแสดงความต้องการให้ครูทำความเข้าใจและช่วยเหลือมากที่สุด 3 ลำดับแรกคือ
- 40.65% เงื่อนไขที่ต่างกันของนักเรียน เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาส่วนตัว
- 21.21% สุขภาพจิต เช่น อาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล
- 19.24% ความแตกต่างทางกายภาพ เช่น สีผิว รูปร่าง ความสูง
ขณะเดียวกัน นักเรียนยังมีความต้องการให้ครูเข้าใจใน ‘ความหลากหลายทางเพศ’ มาเป็นลำดับ 4 คิดเป็น 14.21% ขณะที่ปัญหาเรื่องการบุลลี ความสามารถที่แตกต่าง ฯลฯ มีเพียง 4.69% เท่านั้น
นอกจากนี้ เด็กนักเรียนยังได้สะท้อน ‘สิ่งที่ไม่อยากให้ครูทำมากที่สุด’ ซึ่งมีเสียงที่หลากหลายในประเด็นต่างๆ โดย 3 อันดับแรกพบว่า
- 22.52% ล้อนักเรียน เช่น กายภาพ เพศ ชาติพันธุ์ สำเนียง
- 20.15% สั่งการบ้าน
- 14.61% พูดจาหยาบคาย
นอกจากนี้ การเลือกที่รักมักที่ชัง การสั่งงานจนเกิดภาระทางการเงิน ตามมาในลำดับที่ 3 และ 4 ส่วน ‘การถึงเนื้อถึงตัว’ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่คุกคามทางเพศ และมีกรณีเกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่องมาในลำดับที่ 5 คิดเป็น 3.17% อีกทั้งการนินทานักเรียนลงในโซเชียลมีเดียและการโพสต์คลิปและถ่ายภาพนักเรียนลงโซเชียลมีเดีย การนินทานักเรียนให้ห้องอื่นฟัง ไม่ใส่ใจการเรียนการสอน ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาด้วยเช่นกัน
อ้างอิง:
- ผลสอบ PISA เด็กไทย คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี ศธ.ตั้งคณะทำงานแก้ไข
- ยกเลิกวิชาลูกเสือ เพิ่มวิชาการเงิน ไม่ชอบห้องน้ำในโรงเรียน ไม่อยากให้ครูประจานและล้อเลียน : ผลสำรวจเด็กไทยอยากได้อะไรจากระบบการศึกษา?
- เด็กไทยอยากได้อะไรจากระบบการศึกษา