ดาเบสต์ of 2017: รวม 10 เรื่องปังบนเว็บไซต์ waymagazine.org

นับจาก 12 สิงหาคม 2012 ที่เราเริ่มนับหนึ่งจนถึงสิ้นปีนี้ waymagazine.org จะมีอายุ 5 ปี 4 เดือน กับอีก 19 วัน ตลอดหลายปีผ่านมามีเนื้อหาที่เฉิดฉายบนหน้าออนไลน์ไม่น้อย และแน่นอนว่าที่นิ่งเงียบซุกซ่อนตัวเองราวกับผ้ายับพับไว้ก็เพียบ

หลายปีที่ผ่านมาเราเอาสถิติมากางเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันภายในเพื่อดูว่าในรอบปีนั้นๆ มีเนื้อหาอะไรบ้างที่ยืนอยู่บนยอดเขาของเส้นกราฟ แต่ปีนี้กองบรรณาธิการเลือกที่จะเอามาเล่าให้ฟังในฐานะที่ผู้อ่านทุกคนเป็นกัลยาณมิตรผ่านการคลิกเมาส์เข้าชมเนื้อหาอยู่เสมอ

ต่อไปนี้คือ 10 เรื่องบนเว็บไซต์ waymagazine.org ที่เผยแพร่ในปี 2017 ซึ่งมีสถิติเข้าชมมากที่สุดไล่เรียงตามลำดับ มันเป็นการใช้ตรรกะทางคณิตศาสตร์เป็นตัวชี้วัดโดยปราศจากเวทมนตร์ใดๆ มาดัดแปลง

…..

อันดับ 10:

ภาวะซึมเศร้าในหมู่ฝ่ายซ้ายสากล

ชีพจรการเมืองโลกที่เต้นแรงในปี 2017 มีนัยสำคัญบางประการที่น่าสนใจ นอกจากการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ แล้วยังมีข้อสังเกตสำคัญคือการขึ้นนำของฝ่ายขวาในหลายประเทศ ตัวชี้วัดเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏผ่านกระแสสังคมเท่านั้น แม้แต่การหย่อนบัตรเลือกตั้งก็พบว่าฝ่ายซ้ายพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า

สถานการณ์เช่นนี้กำลังบอกอะไร?

กองบรรณาธิการของเราเดินดุ่มๆ พร้อมคำถามมากมายไปคุยกับสรวิศ ชัยนาม รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญแนวคิดจักรวรรดินิยม เพื่อตรวจแถวฝ่ายขวา-ซ้ายในเวทีโลกจนถึงประเทศไทย

สภาวะทางการเมืองอย่างไรที่ชวนเราพาดหัวว่า “ภาวะซึมเศร้าในหมู่ฝ่ายซ้ายสากล”

อ่านต่อ: https://waymagazine.org/interview_leftistdepression/

อันดับ 9 :

สาเหตุการตายของ 9 ทหารหาญ: หัวใจล้มเหลว ลมแดด ถูกซ้อม จมน้ำ ไตวาย และไข้หวัดนก

คำถามมากมายหลังการตายของภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหาร อายุ 18 ปี ชวนเราหน้านิ่วคิ้วขมวด แน่นอนว่าอาการอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับกองบรรณาธิการของเราเท่านั้น แต่กระแสสังคมต่างตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กหนุ่มวัยฉกรรจ์ ยิ่งได้ฟังคำชี้แจงของผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วแทนที่จะคลี่คลายกลับกลายเป็นชวนฉงนหนักกว่าเดิม กระทั่งถึงวันนี้กรณีการตายของ‘น้องเมย’ ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ ก็ยังคลุมเครือไม่รู้ว่าสุดท้ายจะออกหัวออกก้อยอย่างไร

ระหว่างที่ฝุ่นตลบอบอวลบนหน้าข่าวเราตั้งข้อสังเกตเรียบง่ายว่าทำไมจึงเกิดเหตุถึงตายในค่ายทหารครั้งแล้วครั้งเล่า และเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ไม่หายใจเหล่านั้น

ผลการสืบค้นปรากฏว่า ในระยะประมาณ 10 ปีที่ผ่านมามีคนตายในค่ายลายพรางถึง 9 ชีวิต สาเหตุการตายยิ่งชวนสงสัยเพราะมีตั้งแต่หัวใจล้มเหลว ลมแดด ถูกซ้อม จมน้ำ ไตวาย และไข้หวัดนก

อ่านต่อ: https://waymagazine.org/died_soldier/

อันดับ 8:

จดหมายถึง พี่ตูน บอดี้สแลม จาก น้องแตม บอดี้สลิม

ทันทีที่พี่ตูนของคนไทยตัดสินใจออกวิ่ง น้องแตม บอดี้สลิม แฝดคนละฝาของร็อคสตาร์ชื่อดังก็คันไม้คันมือยิกๆ

การวิ่งระดมทุนเพื่อช่วยเหลือ 11 โรงพยาบาลจะดีร้าย เห็นด้วย เห็นแย้งอย่างไรก็ละไว้ในฐานที่พอเข้าใจได้ แต่เรื่องนี้ชวนคิดต่อว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบสาธารณสุขของไทยที่คนทั้งประเทศฝากชีวิตเอาไว้กันแน่ เรื่องนี้น้องแตมมีอาการคันตามรอยหยักความคิดพร้อมกับแสดงออกชัดเจนเหลือเกินว่า “น้องแตมจะไม่ทน!”

เธอตัดสินใจร่างจดหมายเล่าเรื่องเบื้องหน้าเบื้องหลังทั้งเรื่องระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ บัตรทอง สวัสดิการ รวมทั้งการดำเนินนโยบายของรัฐ เพื่อชวนคิดอย่างถ้วนถี่ว่าที่ระบบสาธารณสุขของไทยมันเฮงเฮงแบบนี้ล้วนมีที่มาที่ไป

การออกวิ่งเพื่อระดมทุนแม้นจะช่วยเหลือโรงพยาบาลได้ตามเป้าประสงค์ของปลีน่องจากสองขา แต่ความจริงคือมันเป็นเพียงเศษเสี้ยวที่แทบมองไม่เห็นเมื่อนำไปเทียบกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทับถมกันมานาน

เราจะออกไปแตะขอบฟ้าด้วยการทะลึ่งวิ่งฝ่าดงขวากหนามเช่นนี้หรือ เรื่องนี้ไม่ได้ถามพี่ตูน บอดี้สแลม เท่านั้น แต่น้องแตม บอดี้สลิม เจตนาชวนคนไทยทุกคนมาช่วยตอบโดยเฉพาะ

อ่านต่อ: https://waymagazine.org/letter_to_toon/

อันดับ 7:

เวเนซูเอลากำลังเลือนหายไปจากแผนที่ท่องเที่ยวของโลก

จากประเทศที่มีความฝันเรืองรองว่าทรัพยากรธรรมชาติที่เพียบพร้อม บ่อน้ำมันสำรองมหาศาลจะนำพาประเทศไปสู่ความรุ่งโรจน์ เหตุการณ์กลับตาลปัตรนอกจากไม่เป็นดังหวังแล้วสวรรค์ที่ฝันใฝ่กลับกลายเป็นนรกก็ไม่ปาน

ประชาชนต้องประทังหิวด้วยการคุ้ยกองขยะกิน ค่าเงินตกต่ำจนแทบไร้ค่า ปืน ยาเสพติด เหตุอาชญากรรมเต็มบ้านเต็มเมือง ขณะที่สายการบินจากนานาชาติทยอยยุติเส้นทางบินมายังที่นี่ ระลอกความรุนแรงทางการเมืองทำให้การลงทุนและการท่องเที่ยวหยุดชะงัก กระทั่งถึงวันนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวกลับมา

อะไรทำให้เวเนซุเอลาดินแดนแห่งสาวงามต้องประสบปัญหาเช่นนี้ ไพรัช แสนสวัสดิ์ นักข่าวนักแปลรุ่นใหญ่แห่ง WAY เรียบเรียงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

อ่านต่อ: https://waymagazine.org/venezuela_no_fly/

อันดับ 6:

สังคมสูงวัย & วิกฤติสโลว์ไลฟ์

เป็นปีที่ประเด็นเรื่อง‘สังคมสูงวัย’ ถูกเปิดขึ้นมาพูดคุยบนพื้นที่สาธารณะบ่อยมากที่สุด สถานการณ์ที่ชวนให้เรื่องนี้น่ากังวลก็คือตัวเลขคาดการณ์ว่าภายในปี 2564 ประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ เข้าเกณฑ์ ‘สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์’ (aged society) และภายในปี 2574 ประชากรสูงวัยจะเพิ่มเป็น 28 เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าเตรียมก้าวสู่การเป็น ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ (super aged society)

หากการคาดการณ์ไม่ผิดพลาด ประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะประสบปัญหาผู้สูงอายุล้นเมือง ซึ่งจะกระทบกับคนทั้งสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับชาติ กำลังแรงงานจะลดน้อยถอยลง ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม บริการ สายพานการผลิตจะสะดุด ค่ารักษาพยาบาลจะสูงขึ้นสวนทางกับการหารายได้ที่ลดลง

จินตนาการว่าครอบครัวหนึ่งจะต้องหาเงินเลี้ยงลูกซึ่งอยู่ในวัยเรียน ขณะเดียวกันก็ต้องใช้จ่ายเลี้ยงดูพ่อแม่ซึ่งกำลังแก่ชรา นั่นหมายความว่าคนหนุ่มสาววัยทำงานจะมีค่าใช้จ่ายทั้งขึ้นทั้งล่องมากน้อยเพียงใด

สังคมสูงวัยจึงเป็นเรื่องใหญ่เสมือนเกลียวคลื่นยักษ์ที่ค่อยๆ ถาโถมเข้ามาซึ่งหากเตรียมตัวไม่ดีพอสังคมจะเจอกับสึนามิที่อาจพลิกตำรารับมือไม่ทันการณ์

เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ลึกที่สุดเราคุยกับ ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และอดีตคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งวิจัยเรื่องสังคมสูงวัยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อชวนสังคมไทยหาทางออกจากวิกฤตินี้ให้ได้

สำหรับบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือ ‘ชาญชรา: ก้าวสู่สังคมสูงวัยด้วยความรู้และปัญญา’ (ตีพิมพ์พฤษภาคม 2559) เป็น 1 ใน 5 เล่มของหนังสือชุด ‘ผลึกความรู้: ชุดงานวิจัยฉบับเคี้ยวง่าย’ ผลผลิตจากโครงการพัฒนาระบบหนังสือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่พยายามคัดสรรงานวิจัยชิ้นโดดเด่น ทรงคุณค่า นำมาเรียงร้อยให้ย่อยง่าย แปรรูปงานวิจัยบนหอคอยงาช้างให้เป็น ‘ความรู้ฉบับประชาชน’ ผ่านบทสัมภาษณ์ขนาดยาวจากนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญในสาขาความรู้ต่างๆ

อ่านต่อ: https://waymagazine.org/aging_society/

อันดับ 5:

14 คำถามความรัก กับ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

วาเลนไทน์ปีนี้ไม่ได้ชวนคุยเรื่องความรักของคนหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ชวนคิดถึงความรักระดับครอบครัวซึ่งประกอบสร้างด้วยพ่อแม่ลูก ซึ่งเอาเข้าจริงก็มักจะมีเรื่องระหองระแหงได้ง่ายไม่แพ้ผู้คนวัยกำลังผลิบาน อาการแบบนี้เป็นกันหนักเบามากน้อยแค่ไหนหากใครติดตามแฟนเพจของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จะพบว่าปัญหาความรักระดับครอบครัวนั้นเหมือนกับความเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไปที่พบบ่อยกระทั่งคุณหมอจะต้องให้ยาสามัญประจำบ้านติดตั้งไว้ในใจคนเสมอ

ถาม-ตอบจากความรักภาคทฤษฎี สู่ภาคปฏิบัติ และปัญหายอดฮิตของครอบครัว แม้เราตั้งใจปล่อยเนื้อหานี้ในช่วงวาเลนไทน์ แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ‘ความรัก’ ไม่ขึ้นอยู่กับวันสำคัญหรอกใช่ไหม ฉะนั้นหยุดยาวปีใหม่จะกลับมาทบทวนเรื่องนี้กันอีกทีก็ไม่น่าจะสิ้นเปลืองเวลาแต่อย่างใด

อ่านต่อ: https://waymagazine.org/interview_prasert_love/

อันดับ 4:

ความบรรลัย 5 ประการ เมื่อ ม.44 ปล่อยผีสิทธิบัตร

การที่รัฐบาลมีมติเห็นชอบให้ใช้มาตรา 44 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ของปีนี้ เพื่อปล่อยผีการยื่นขอรับสิทธิบัตรกว่า 12,000 ราย ที่ค้างเติ่งยาวนาน 10-20 ปี ให้แล้วเสร็จภายในเวลาสามเดือน

อิทธิพล โคตะมี กองบรรณาธิการของเราทราบข่าวนี้แล้วอดรนทนไม่ไหว รีบรัวนิ้วบนคีย์บอร์ดเพื่อเรียบเรียงเหตุผลแห่ง ‘ความบรรลัย’ มาให้อ่านในฐานะประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบเต็มๆ

อะไรทำให้เขาตั้งข้อสังเกตอย่างดุดันขนาดนั้น ไม่มีคำตอบใดดีกว่าการคลิกเข้าไปอ่านเพื่อคลี่คลายคำถามแล้ว

อ่านต่อ: https://waymagazine.org/disaster44_patent/

อันดับ 3:

การจากไปของ จงฮยอน SHINee ความเจ็บปวดครั้งสำคัญของวงการเคป็อป

ปลายปีมีข่าวเศร้าโดยเฉพาะกับบรรดาแฟนเพลงเกาหลีใต้ เมื่อคิมจงฮยอน นักร้องนำวง SHINee จากโลกไปด้วยวัยเพียง 27 ปี พร้อมกับข่าวคราวออกมาว่าเขาเลือกจบชีวิตตัวเองผ่านการวางแผนไว้แล้ว ตั้งแต่บริจาคร่างกายให้โรงพยาบาล โอนทรัพย์สินให้พี่สาว และเขียนจดหมายลาตายไว้กับเพื่อนสนิท

ความตายของจงฮยอนนำความเศร้าโศกมายังแฟนเพลงอย่างมาก เพราะ SHINee คือสัญลักษณ์หนึ่งของวงการ K-Pop ที่โด่งดังเป็นพลุแตกในทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้กำลังรุ่งเรือง สิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างหลังก็น่าหวั่นใจ เมื่อศิลปินน้อยใหญ่ที่ถูกส่งเข้าไปยืนใต้แสงไฟนั้นต้องแบกรับความกดดันมหาศาลเอาไว้ด้วย

จงฮยอนแห่ง SHINee ก็เช่นกัน

บทความชิ้นนี้ชวนทำความเข้าใจอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ และทบทวนความทรงจำถึงศิลปินผู้จากไป รวมถึงความเจ็บปวดข้างในที่น้อยคนนักจะรู้

อ่านต่อ: https://waymagazine.org/shinee_jonghyun-01/

อันดับ 2:

6 ตุลาคม 2560: กาลครั้งหนึ่งช่างการไฟฟ้าสองคนถูกแขวนคอที่นครปฐม

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘สองพี่น้อง (The Two Brothers)’ ภายใต้การผลิตของโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ (Documentation of Oct 6) ถูกสายตาของวีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ กองบรรณาธิการของเราเรียบเรียงมันใหม่จากภาพเคลื่อนไหวสู่ตัวหนังสือที่หายใจ ทว่าเล่าเรื่องความตายของช่างไฟฟ้า 2 คน ที่นำมาสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย ถูกแขวนคอที่จังหวัดนครปฐม หลังจากติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับประเทศของ พระถนอม ผู้ถูกขนานนามท้ายชื่อในห้วงนั้นว่า ‘ทรราช’

ความตายถูกรายงานผ่านหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 กลายเป็นแบบจำลองนำไปสู่การแสดงละครของนักศึกษาในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็บานปลาย และเต็มไปด้วยความสูญเสีย

มากกว่าเรื่องในภาพยนตร์ คือเบื้องหลังจากปากคำของผู้กำกับ และคณะทำงาน Documentation of Oct 6

หลังติดต่อญาติของช่างไฟฟ้า 2 คนที่ถูกแขวนคอที่นครปฐมได้ ปลายสายของเสียงสนทนาของผู้ชายวัยเกือบ 70 ปีก็ร้องไห้โฮ เพราะเขารอมาตลอดชีวิตว่าเรื่องราวของน้องชายผู้ถูกแขวนคอกับประตูแดงเมื่อ 41 ปีที่แล้วจะไม่ถูกลืม

อ่านต่อ: https://waymagazine.org/two_brothers_and_6_october/

อันดับ 1:

20 ปีวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง: จากต้มยำกุ้งสู่ต้มกบ

ปี 2540 ยังอยู่ในความทรงจำและเป็นบทเรียนที่ถูกเล่าซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ใครจะคิดว่าจากเสือทางเศรษฐกิจประเทศไทยจะกลายเป็นแมวเซื่องๆ ที่แทบสิ้นเนื้อประดาตัวในชั่วพริบตา

20 ปีผ่านไปสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดูท่าทางมั่นคงขึ้น แต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งแล้วครั้งเล่าก็มักชวนเรามาทบทวนเรื่อง ‘ต้มยำกุ้ง’ อยู่เสมอ

กองบรรณาธิการของเราไปพูดคุยกับ รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทบทวนเหตุการณ์ในช่วงฟองสบู่อีกรอบ บริบทโลกตอนนั้นเป็นอย่างไร และใครทำอะไรภายใต้เงื่อนไขแบบไหนจึงพาชาติบ้านเมืองเข้าไปจนมุมจนแทบโงหัวไม่ขึ้น และหากมองสถานการณ์ตอนนี้กองบรรณาธิการถาม รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย ว่า เราอยู่ในระนาบใดของเหตุการณ์วันนั้น

“มันจะไม่ระเบิดเหมือนฟองสบู่ที่ผ่านมา รอบนี้เหมือนต้มกบ ค่อยๆ ตาย เศรษฐกิจโตไม่ทันที่จะหล่อเลี้ยงความต้องการของคนที่เปลี่ยนแปลงไป ประชากรน้อยลง สัดส่วนของคนที่มีแรงในการผลิตน้อยลง จำนวนสัดส่วนผู้สูงอายุก็เพิ่มมากขึ้น ภาระที่ต้องดูแลก็เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนคนที่ต้องมารับภาระตรงนั้นกลับน้อยกว่า”

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอบแบบนั้น

หรือ Winter is coming อาจมีระยะไม่ไกลนับจากนี้ เป็นความหนาวเหน็บที่อาจต้มกบให้สุกช้าๆ แบบไม่รู้ตัว

อ่านต่อ: https://waymagazine.org/20-yrs-tyk-crisis_1/

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า