13 กันยายน 2564 เป็นวันเสียชีวิตของ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ในวัย 85 ปี เธอคือนักเขียนที่สร้างชื่อเสียงจากนามปากกาหลากหลาย อาทิ กนกเรขา, โรสลาเรน, ลักษณวดี ฯลฯ แต่นามปากกาที่คุ้นหูคุ้นตามากที่สุดคือ ‘ทมยันตี’
การผลิตงานเขียนของ ‘ทมยันตี’ โดยเฉพาะรูปแบบนวนิยายได้รับความนิยมอย่างมาก มีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์มากมาย อาทิ คู่กรรม, ทวิภพ, ค่าของคน, อุบัติเหตุ, ดาวเรือง, ล่า, เวียงกุมกาม, คำมั่นสัญญา, พี่เลี้ยง, เลือดขัตติยา ฯลฯ นอกจากนั้น เธอยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2555
อย่างไรก็ตาม ชีวิตของทมยันตี ไม่เพียงจำกัดตัวเองอยู่ในกรอบของแวดวงวรรณศิลป์เท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยอย่างแนบแน่น โดยเฉพาะเหตุการณ์ ‘6 ตุลา 19’ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์อาชญากรรมโดยรัฐที่อื้อฉาวที่สุดครั้งหนึ่งของไทย
ทมยันตี อันมีความหมายถึง ‘นางผู้มีความอดทนอดกลั้น’ เป็นนางในวรรณคดีเรื่อง พระนลคำหลวง ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ย่อมบ่งบอกถึงอุดมการณ์ความเชื่อทางการเมืองได้ไม่มากก็น้อย ฉะนั้นในช่วงที่เกิดความขัดแย้งทางอุดมการณ์อย่างรุนแรงในสังคมไทยระหว่างปี 2516-2519 เริ่มมีการฆาตกรรมนักศึกษา ชาวนา และกรรมกร ที่ออกมาผลักดันเรียกร้องประเด็นต่างๆ อาทิ การลดค่าเช่านา การเพิ่มค่าแรงงาน เป็นต้น ทมยันตีก็ไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมการเคลื่อนไหว หากแต่การเคลื่อนไหวนั้นเป็นการใช้ความสามารถทางวรรณศิลป์เข้าร่วมกับขบวนการฝ่ายขวาของไทย ที่มองว่าขบวนการสามประสานข้างต้นเป็นภัยต่อชาติและราชบัลลังก์
ขบวนการฝ่ายขวาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ถูกจัดตั้งโดยชนชั้นนำ มีปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวที่ถูกกำหนดโดยกลไกรัฐ เช่น กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง (2 กลุ่มหลังถูกยุบไปหลังจากเหตุการณ์การปราบปรามนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สิ้นสุดลง) ซึ่งมีบทบาทในการระดมคน ปลุกระดมผ่านช่องทางต่างๆ และมีส่วนสำคัญร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดน ในการสังหารหมู่นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ขณะที่ทมยันตีเองก็ได้แปรเปลี่ยนอุดมการณ์ตัวเองเป็นปฏิบัติการณ์ทางการเมืองเช่นกัน โดยปรากฏตัวอย่างโดดเด่นในการจัดรายการวิทยุยานเกราะ ในนามแกนนำชมรมแม่บ้าน กลุ่มองค์กรที่ทำหน้าที่ต่อต้านขบวนการนักศึกษาในช่วงปี 2519 ร่วมกับกลุ่ม กระทิงแดง นวพล ลูกเสือชาวบ้าน ฯลฯ
จากข้อมูลของโครงการบันทึก 6 ตุลาฯ อันเป็นการรวบรวมหลักฐานและข้อเท็จจริงในเหตุความรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในรูปแบบออนไลน์ พบว่า ทมยันตี มีบทบาทในการรวมภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพล รวมทั้งแม่บ้านจำนวนมากเข้าเป็นสมาชิกของชมรม โดยทำกิจกรรมต่อต้านขบวนการนักศึกษาหลากหลายประเภท อาทิ จัดกิจกรรมอภิปราย จัดการชุมนุม การประโคมข่าวโจมตีขบวนการนักศึกษาด้วยการใช้สถานีวิทยุของรัฐ
บทบาทของทมยันตี มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า อุทิศ นาคสวัสดิ์ นักจัดการรายวิทยุและโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ออกอากาศรายการประจำวันชื่อ ‘เพื่อแผ่นดินไท’ คือการเป็นโฆษกให้ฝ่ายต่อต้านขบวนการนักศึกษา เช่นเดียวกันกับบทบาทของ พันโทอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ที่มีบทบาทสำคัญในงานโฆษณาชวนเชื่อและสงครามจิตวิทยาต่อต้านขบวนการนักศึกษาในช่วง 6 ตุลาฯ โดยมีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีที่มีเครือข่ายสมาชิกถึง 260 สถานี เป็นเครื่องมือสำคัญ
เนื้อหาโดยทั่วไปในการจัดรายการของทมยันตี เป็นการโจมตีขบวนการนักศึกษาและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ โดยครั้งหนึ่งถึงกับเสนอให้รัฐบาลสหรัฐตั้งสถานีเรดาร์และฐานทัพอากาศในประเทศไทยต่อไป ทั้งที่เป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศ และรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน[1]
แบบแผนการจัดรายการเช่นนี้ มีโครงเรื่องเดียวกันในหมู่ขบวนการฝ่ายขวา คือ นักศึกษาถูกล้างสมองจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนและเอกราช พร้อมๆ กับการถอนกำลังทหารของสหรัฐออกจากประเทศไทย ดังตัวอย่างเนื้อหาการพูดของทมยันตี ดังนี้
“…ถ้าคิดถึงว่าธงชาติไทยในอเมริกา ถูกคนอเมริกาดึงลงมาฉี่รดตรงนั้น หัวใจเราจะยังไง พอถึงวันที่ 20 มีนาคม ปี 19 นี้เอง เราก็มีการเดินขบวนชุมนุมกันครั้งใหญ่ (ขบวนนักศึกษา ชาวนา กรรมกร) ถึงกับถูกระเบิดล้มหายตายจากกันไป ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังจับไม่ได้ว่าใครจะมีระเบิด คนตายก็ตายฟรีไป ไม่มีใครรับผิดชอบ คนจัดเดินขบวนเองก็ร้องปาวๆ แต่ว่าจะสืบเจตนารมณ์อย่างนั้นต่อไป ก็ร้องอยู่เช่นนั้นเอง ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ข้อสำคัญในวันนั้นมีสิ่งที่น่าสังเกตอยู่ประการหนึ่ง ถ้าท่านทั้งหลายดูทีวีดูข่าวในวันนั้น จะเห็นว่าพอเขาเดินขบวนมาถูกระเบิดโครม คนตายตายไป คนที่เหลือจับมือมัดข้าวต้มเดินต่อไปนั้น ท่านสังเกตไหมคะว่า เพลงที่เขาร้องนั้น คือเพลงสู้ไม่ถอย เพลงสู้ไม่ถอยที่เขาเดินขบวนร้องนั้น ก็บังเอิญ เพราะก่อนที่จะเกิดเรื่อง ดิฉันเข้าไปในป่าที่สุราษฎร์ธานี แล้วดิฉันไปต่อเพลงต่อหน้ากองเชียร์ทหารป่า คนที่ไปต่อกับฉันคือคุณรัชนี จันทรางกูร ดิฉันก็ไปถามว่าเพลงนี้เขาร้องกันทำไม เขาบอกว่าเป็นเพลงเชียร์ให้ทหารป่า (กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์) ต่อสู้กับทหารของเรา วันนั้นดิฉันคิดว่าวันที่เขาร้องเพลงสู้ไม่ถอยกลางกรุงเทพฯ เป็นการตบหน้าคนไทยทั้งกรุงเทพฯ”
อีกตอนหนึ่ง ทมยันตีกล่าวถึงอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ที่วางเป้าหมายในการยึดประเทศไทย ความว่า
“…คอมมิวนิสต์เขาเคยกำหนดยุทธศาสตร์ว่า เขาควรจะได้ประเทศไทยในปี 2520 หรือปี 2521 นี่เอง ก็อีก 2 ปี การเย้วไล่ครั้งนี้ (หมายถึงการชุมนุมของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของเขาอย่างประหลาด ถ้าใครกล่าวหาว่าดิฉันปลุกผีคอมมิวนิสต์ล่ะก็ เข็มมุ่งอันนี้รับฟังได้จากสถานีวิทยุเสียงประชาชน ออกอากาศวันที่ 1 ธันวาคม 2518 นี้เอง ทุกปี พอถึงวันที่ 1 ธันวาคม วันครบรอบตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ เขาจะมาพร้อมกันทุกปีว่า เขาจะทำอะไรในประเทศเรา แม้แต่ปีนี้เขาก็ได้บอกไว้แล้วว่าเขาจะทำอะไร ซึ่งสักวันหนึ่งดิฉันจะมานั่งเล่าให้ฟังว่าเขาได้กำหนดอะไร เกี่ยวกับประเทศไทยไว้แล้ว แล้วเขาได้เดินงานมา 6 เดือนแล้ว…”
การจัดรายการเช่นนี้ เกิดขึ้นตลอดปี 2519 พร้อมๆ กับเหตุการณ์ความรุนแรงรายวัน จนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต เช่น กรณีการฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้ารัฐวิสาหกิจที่นครปฐม ก่อนที่การสังหารหมู่ครั้งใหญ่จะตามมาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธสงครามปราบปรามนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามด้วยกลุ่มฝ่ายขวาที่ลงประชาทัณฑ์ บางกรณีมีการทำร้ายศพ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตพบผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 46 คน เฉพาะที่มีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี และถูกเผา แต่สถิติไม่เป็นทางการจากมูลนิธิป๋วย อึ๊งภากรณ์ คาดว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน ผู้รอดชีวิตฝั่งนักศึกษาและประชาชนกว่า 3,000 คนถูกจับกุมหลังจากนั้น
ในเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนั้น ได้เกิดการรัฐประหาร นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในนาม คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ก่อนที่จะมีการจัดตั้งสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินขึ้นมาทำหน้าที่ออกกฎหมาย ทมยันตีได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และในปีถัดมาได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก่อนที่ปี 2522 จะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร มาสู่รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รัฐบาลเกรียงศักดิ์ได้เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยเสนอเป็นญัตติด่วนต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันที่ 15 กันยายน 2521
จากการสืบค้นของ ธนาพล อิ๋วสกุล และ ชัยธวัช ตุลาธน พบว่าเช้าวันนั้น นางวิมล เจียมเจริญ (นามสกุลเก่า) หรือ ‘ทมยันตี’ ได้ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านการนิรโทษกรรมอย่างหัวชนฝาก่อนจะลุกออกจากที่ประชุมหลังจากสภาลงมติรับหลักการ จากนั้นสภาก็พิจารณาต่อและผ่านวาระ 3 ด้วยคะแนน 180 ต่อ 1 โดยผู้ที่ลงคะแนนคัดค้านคือ นายสง่า วงศ์บางชวด ทันทีที่กฎหมายผ่านสภา พลเอกเกรียงศักดิ์เดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ทันทีเพื่อให้ลงพระปรมาภิไธย
กระทั่งเมื่อ ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521’ มีผลใช้บังคับ จำเลยคดี 6 ตุลาฯ 18+1 คน[2] และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงพ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิง[3]
ฟังดูเผินๆ ราวกับว่ากฎหมายฉบับนี้ได้คืนอิสรภาพให้กับแกนนำนักศึกษาในวันนั้น แต่จากการค้นคว้าของ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น นักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์การลอยนวลพ้นผิดของรัฐไทยเสนอว่า การออกกฎหมายฉบับนี้มีผลย้อนหลังไปถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเข้าไปป้องกันการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนการล้อมปราบในวันนั้น และไม่สามารถเรียกร้องการชดเชยเยียวยาจากผู้ก่อการวันนั้นได้[4]
เหล่านี้คือบทบาทบางช่วงตอนที่สำคัญของ ‘ทมยันตี’ หรือ วิมล ศิริไพบูลย์ ฝากไว้ให้สังคมไทยในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่
เชิงอรรถ
[1]https://soundcloud.com/enra-enratius-akathezia/62519a
[2]หมายถึง สุธรรม แสงประทุมกับพวกรวม 18 คนที่ถูกจับขังโดยไม่มีการตั้งข้อหา และถูกฟ้องฐานก่อกบฏ ก่อจลาจล ต่อสู้และพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ และข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ส่วนอีก 1 คนถูกฟ้องศาลพลเรือนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
[3]https://doct6.com/archives/2205#_ftn82
[4]ดูเพิ่มเติมใน ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น. 2557. “‘คำให้การเร้น’ ในกฎหมายนิรโทษกรรม: รัฐประหารและสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519.” พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์, ผู้แปล. อ่าน, ธันวาคม, น. 166-183.