เรื่อง: ศุทธวีร์ ตันติวงศ์ชัย
ภาพ: อนุช ยนตมุติ
ในวันที่ฟ้าขุ่นมัวของบ่ายวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2556 เรามีนัดกันที่ร้านหนังสือ Bookmoby ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กับงานเปิดตัวหนังสือพร้อมเสวนาเล็กๆ ที่อัดแน่นด้วยความรู้ ภายใต้ชื่อ ‘Global Report สำรวจชีวิตในกระแสทุนโลกาภิวัตน์’
Global Report เป็น หนังสือรวมรายงานและบทวิเคราะห์สถานการณ์โลกในรอบทศวรรษ โดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ใต้ชายคาสำนักพิมพ์ WAY of BOOK
“เมื่อในปี 2547 ได้ทำนิตยสารข่าวรายสัปดาห์เล่มหนึ่ง ตอนนั้นมีแนวความคิดที่อยากจะนำเสนอประเด็น รายงาน และบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในโลก” อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ WAY of BOOK กล่าวถึงจุดเริ่มต้นความคิดของรายงานและบทวิเคราะห์สถานการณ์โลกที่เรียกว่า ‘Global Report’
บรรณาธิการ WAY of BOOK เพิ่มเติมอีกว่า หลายครั้งหลายคราการนำเสนอข้อมูล ประเด็นข่าวต่างประเทศมักมาจากสำนักข่าวใหญ่ๆ เพียงไม่กี่แห่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้โครงเรื่องของการนำเสนอข่าวมักไม่หนีกันมาก ไม่ว่าจะรับชมจากสื่อไหนมักพบเนื้อหาข่าวไปในทิศทางเดียวกัน นี่เป็นจุดเริ่มสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า Global Report
“ในปี 2542 เกิดการประท้วงการประชุมองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นหมุดหมายที่มักอ้างอิงถึงกระบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในระดับสากล แม้เหตุการณ์จะสำคัญถึงขนาดนั้นแต่การนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักในบ้านเราเองก็ไม่ได้อธิบายอะไรมากไปกว่าการเกิดเหตุปะทะ ไม่อธิบายว่าเขาเคลื่อนไหวด้วยอะไรและเป็นอย่างไร และนั่นเป็นเหตุที่ทำให้ผมชวนคุณกรรณิการ์มาร่วมเขียนบทวิเคราะห์สถานการณ์…”
คำถามคือ Global Report ไม่เหมือนบทวิเคราะห์ทั่วไปอย่างไร
เจ้าสำนัก WAY of BOOK ชี้ว่า Global Report เป็นบทวิเคราะห์สถานการณ์ที่มีฐานข้อมูลอ้างอิงในการเขียนมาจากสื่อทางเลือกเป็นหลัก และด้วยเหตุที่ใช้ข้อมูลจากสื่อทางเลือกเป็นหลักนั่นจึงทำให้การนำเสนอเนื้อหานั้นค่อนข้างจะแตกต่างจากงานวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศทั่วไป อีกทั้งประเด็นในการนำเสนอไม่เคยมองข้ามกลุ่มคนส่วนน้อย กลุ่มคนที่ไม่มีปากมีเสียงในสังคมในโลก และเป็นกลุ่มคนผู้ได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เรียกว่าทุนโลกาภิวัตน์ในรูปแบบต่างๆ
แม้เนื้อหาอาจจะดูยากไปสักเล็กน้อย แต่ด้วยการเล่าเรื่องที่มีลักษณะจิกกัด ประชดประชัน ได้แสบสันต์แต่เต็มไปด้วยศิลปะและแน่นไปด้วยข้อมูลของผู้เขียน ยิ่งชวนให้คนอ่านรู้สึกสนุกและมีส่วนร่วมไปกับความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบ
ด้วยความที่เนื้อหาของ Global Report เกี่ยวโหนไปกับสิ่งที่เรียกว่ากระแสทุนโลกาภิวัตน์ เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากระแสดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ แต่ถึงกระนั้นเรากลับมองภาพนี้ได้ไม่ชัดเจน
“ผมมีความรู้สึกว่าสังคมไทย เวลามีการเคลื่อนไหวทางสังคมมันเหมือนมีแรงดึงดูดในประเทศสูง ทำให้เรามีความยากในการมองและทำความเข้าใจกับมิติภายนอก ผมอยากได้คนที่มาช่วยเคาะกะลาให้เราได้มองออกไปข้างนอกบ้าง”
จักรชัย โฉมทองดี รองประธาน FTA Watch พูดถึงประเด็นสำคัญของทุนโลกาภิวัตน์ นั่นคือเขตการค้าเสรี หรือ FTA
“ทุนโลกาภิวัตน์เป็นปรากฏการณ์ เป็นสิ่งที่มาแล้วก็หายไป ไม่สามารถขวางมันได้กลับกัน แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในกระแสดังกล่าวและพบถึงความไม่เป็นธรรม เราควรใช้ปัญญาในการมอง แก้ไข นั่นคือสิ่งที่ขับเคลื่อนเรามาโดยตลอด”
“ไทยกับ FTA นั้น ในตอนนี้เราพูดได้เต็มปากว่าแตะทุกมุมโลก เราเริ่มสิ่งที่เรียกว่าเขตการค้าเสรีอาเซียน+6 เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีกลุ่มประเทศอาเซียน รวมกับนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลี จีน ญี่ปุ่น หลังจากนั้นก็เข้าร่วมการเจรจา Trans-Pacific Partnership เขตการค้าเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวนำ ครอบคลุมภาคแปซิฟิกทั้งหมด และก็ประกาศเจรจากับยุโรปอีก 27 ประเทศ และในขณะนี้เราก็มีการเจรจารอบโลกแล้ว”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นประเด็นสำคัญของคำว่าเปิดเสรีหาใช่ประเด็นชี้เป็นชี้ตายไม่ แต่จุดสำคัญหลักคือวิธีการภายหลังจากการเปิดเสรี สิ่งที่เหล่าผู้มีทุนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นทั้งไทยและต่างชาติต้องการแท้จริงแล้วคือการรับประกันสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง สิทธิในการดำเนินธุรกิจและทำกำไรโดยไม่เกิดการแทรกแซงหรือรบกวนไม่ว่าจะเป็นจากทางภาครัฐหรือประชาชน และอีกประเด็นหนึ่งคือการคุ้มครองการลงทุนหรือนักลงทุนจากต่างชาติ หากรัฐบาลหรือใครก็ตามล่วงละเมิดในด้านการแสวงหาผลทางกำไรก็สามารถถูกฟ้องร้องได้เช่นกัน
“สถานการณ์ต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ มันเหมือนมีใครกำหนดไว้ ทุกๆ สิ่ง ทุกๆ อย่างไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยตัวมันเอง”
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ร่วมให้ความรู้เพิ่มเติมด้านสิทธิบัตรยา – หนึ่งในผลพวงของสิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์
“หลายครั้งหลายคราความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจข้ามชาตินั้นเกิดขึ้นในระดับนอกประเทศและเกิดขึ้นในประเทศ ยกตัวอย่างถึงความพยายามของธุรกิจยาข้ามชาติที่พยายามเข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทย เข้ามาคุยกับกระทรวงต่างๆ เพื่อที่จะขอปรับเปลี่ยนตัวกฏหมายสิทธิบัตร โดยสิ่งที่เขาอยากได้นั้นมีนัยยะที่สอดคล้องกับข้อตกลง FTA ที่กำลังเจรจาอยู่ มันเหมือนเดินเกม 2 ด้าน ถ้าการเดินเกมฝั่ง FTA ไม่ได้ก็เดินเกมแก้ไขกฏหมายในประเทศ ถ้าแก้ไขได้ FTA จะทำหรือไม่ทำก็ไม่สำคัญแล้ว
“และจากสถานการณ์ล่าสุดที่ติดตาม ก็พบธุรกิจยาข้ามชาติเข้าไปให้ความรู้ผิดๆ แก่ผู้ป่วย…”
และนี่คือเหตุผลสำคัญที่มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยออกมาคัดค้านเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และการลงทุนของธุรกิจยาข้ามชาติ
นอกจากเรื่อง สิทธิบัตรยาแล้ว ในคลื่นกระแสโลกาภิวัตน์เดียวกันนี้ สิทธิบัตรในสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่าง ‘ยีนมนุษย์’ ก็กำลังคืบใกล้เข้ามาหาเรา
“เมื่อไม่นานที่ผ่านมามีคำตัดสินจากศาลสหรัฐประเด็นการจดสิทธิบัตรยีนในมนุษย์ เป็นยีนที่บ่งชี้การเป็นโรคมะเร็งในเต้านมและรังไข่ ประเด็นสำคัญคือประเทศต่างๆ ออกกฏหมายเพื่อรองรับให้เอกชนจดสิทธิบัตรในยีนหรือพันธุกรรมของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต และทุกอย่างทั้งหมดนี้กำลังถูกผลักเข้าไปสู่กลไก FTA” วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี อธิบาย
ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากเอกชนสามารถจดสิทธิบัตรดังกล่าวได้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคงหนีไม่พ้นผู้ป่วยหรือผู้ที่มีภาวะความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ และทางเอกชนสามารถใช้สิทธิประโยชน์ในการอ้างอิงการพัฒนายารักษาโรคได้ และส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงขึ้น
“ทั้งนี้ทั้งนั้นหนังสือ Global Report ทำให้เรามองสิ่งที่อยู่รอบตัวมากกว่าขอบเขตภายในประเทศ มันคือการชี้ให้มองปัญหาที่เกิดขึ้น และเราจะพบว่าแท้จริงแล้วรากของปัญหามันมาจากที่เดียวกัน Global Report พูดถึงชีวิตของเราทั้งหมด มันเป็นการชี้ผ่านสื่อว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะเผชิญหน้ากับปัญหาและแก้ปัญหาเหล่านี้ไปด้วยกัน” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีทิ้งท้าย
วงเสวนาดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างออกรส ก่อนจะปิดท้ายด้วยแม่งานตัวจริงอย่าง กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้เขียน Global Report
“ต้องขอบคุณพี่อธิคมที่ชวนมาเขียนด้วยกัน ตอนนั้นก็ไม่มั่นใจว่าจะเขียนได้รึเปล่า แต่ก็เขียนมาจนถึงทุกวันนี้” เจ้าของผลงานยิ้มละไม
ในฐานะที่คลุกคลีกับกับงานข่าวต่างประเทศมาเกินทศวรรษ กรรณิการ์ชี้ว่า ผู้คนจำนวนมากมักติดตามข่าวสารต่างประเทศแค่เพียงสถานการณ์ใหม่ แต่ในความเป็นจริงมันต้องไม่ใช่แบบนั้น ต้องมีการรื้อค้นข้อมูลให้มากกว่านั้น มันมีเหตุผลและความเป็นไปในแตละด้าน
“แต่ก่อนมีฝันอยากล้มทุนโลกาภิวัตน์ แต่พอเราโตขึ้นก็มาคิดว่า เราคงล้มมันไม่ได้หรอก เราอยากท้าทายมัน อยากจะฉีกหน้ากากและเปิดเผยมันออกมาว่าการที่เรามีชีวิตแบบนี้ โลกแบบนี้มันมีความเป็นมาเป็นไปในตัวของมันอยู่
“ในวันใดที่คุณรู้เรื่องมากขึ้นคุณจะไม่เป็นไปในความต้องการของกระแสมากนัก คุณจะลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ก็แค่ลุกขึ้นมาท้าทายก็เท่านั้น” เจ้าของผลงาน Global Report กล่าวทิ้งท้ายด้วยแววตาและน้ำเสียงมุ่งมั่น