ความฝัน (แบบอเมริกัน) เป็นสิ่งสะท้อนอยู่ในตัวละครทุกตัวในนวนิยาย Of Mice and Men ของ จอห์น สไตน์เบ็ค (John Steinbeck) ความฝันเหล่านี้เกิดโดยมีสภาพความเป็นจริงในช่วง Great Depression อยู่เบื้องหลัง เป็นการฝันถึงชีวิตที่มีความสุขผ่านการครอบครองทรัพย์สิน เป็นความฝันถึงการได้อยู่ในดินแดนที่ยังมาไม่ถึง ยังไม่ได้ครอบครอง แต่ก็ยังมีความหวังว่าจะได้เข้าถึงและได้ครอบครองในตอนท้าย
ความฝันเป็นตัวจักรสำคัญในการสานประโยชน์ตัวละครเข้าด้วยกัน นำไปสู่การร่วมมือกันฝ่าฟันอุปสรรคให้บรรลุเป้าหมาย ชัดเจนมากผ่านการที่ตัวละครแรงงานตกลงกันว่าจะนำค่าจ้างที่จะได้หลังเสร็จงาน มากองรวมกันเพื่อนำไปซื้อที่ดินสำหรับอาศัยและหาเลี้ยงชีพร่วมกัน
ความฝันจึงเป็น ‘ยาฝิ่น’ ที่ตัวละครร่วมกันเสพสม ความฝันช่วยให้สามารถอยู่กับความทุกข์ยากที่อยู่ตรงหน้า หรืออาจกระทั่งทำให้ความทุกข์ยากที่อยู่ตรงหน้ามีความสมเหตุสมผลขึ้นมา
ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดวิกฤติขนานใหญ่ ไม่แพ้วิกฤติช่วง Great Depression หรือ Black Death ความฝันที่มักได้ยินหรือกล่าวกันคือ การได้กลับไปยัง ‘ชีวิตปกติ’ ที่เคยมีแต่เดิมก่อนการเกิดโรคระบาด
ชีวิตปกติก่อนการแพร่ระบาด (แทบจะ) กลายเป็น ‘เรื่องเพ้อฝัน’ (fantasy) ที่มีไว้สำหรับจินตนาการถึง ราวกับมันไม่เคยมีอยู่ หรือถ้ามี ก็มีความเป็นไปได้น้อยที่จะ (กลับไป) เป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายที่ยังมองไม่เห็นกระทั่งแสงสว่างปลายอุโมงค์ของวิกฤตการณ์ครั้งนี้
อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศร่ำรวยส่วนใหญ่ก็เริ่มมองเห็นชีวิตที่ปราศจากโรคระบาดอยู่รำไรแล้ว แต่ภาวะใกล้พ้นไปจากเส้นขอบของโรคระบาดนี้ก็นำไปสู่ปัญหาใหม่ หรือหากจะกล่าวให้ถูกต้อง มันเป็นการกลับไปสู่ปัญหาซึ่งมีอยู่แต่เดิม เป็นปัญหาและคำถามที่ค้างคาอยู่ใน ‘สภาวะปกติ’ ก่อนที่จะถูกแทรกด้วย ‘สภาวะยกเว้น’
คำถามคือ การกลับไปยังชีวิตที่เคยมีก่อนหน้าโรคระบาดเป็นสิ่งที่พึงประสงค์หรือไม่? แน่นอน หากกล่าวในแง่ของการอยู่โดยปราศจากโรคระบาด การกลับไปมีชีวิตดังเดิมย่อมเป็นสิ่งพึงปรารถนา ทั้งนี้ การกลับไปอยู่ดังเดิมคงไม่น่าอภิรมย์นัก หากนั่นหมายถึงการกลับไปยังสังคมซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ อบอวลไปด้วยความวิตกกังวล ต้องกลับไปเผชิญวงจรความทุกข์ทรมานจากการคมนาคมที่ดูดกลืนพลังงานชีวิต ตลอดจนต้องรื้อฟื้นทักษะการเข้าสังคมหลังจากที่ไม่ได้ใช้มานาน
นอกจากนั้นการกลับไปยังชีวิตที่ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติดังเดิม ยังหมายถึงการออกเดินอีกครั้งของหนี้ที่ถูกพักการชำระในสภาวะโรคระบาด (แม้ใครหลายคนยังคงต้องจ่ายค่างวดไม่ต่างจากสภาวะปกติก็ตาม) หรือกระทั่งการกลับไปอยู่ภายใต้ ‘ความแออัด’ ในสังคม ไม่ว่าจะทางจิตใจหรือทางกายภาพ
หากกล่าวเฉพาะความแออัดทางกายภาพ ก็นับเป็น ‘ความปกติ’ ของชีวิตก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 อันมีส่วนเป็นเงื่อนไขที่มีนัยยะสำคัญต่อระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาด
ห่างเพียงชิดใกล้
อยู่กันครอบครัวละ 4-6 คน ตามแบบครอบครัวขยาย มีพื้นที่ประมาณ 6-8 ตารางวา กำแพงชนกำแพง ตั้งติดชิดกันเป็นแนวยาว ไม่มีที่ว่างระหว่างแต่ละหลัง คือสภาพความเป็นอยู่ปกติของคนในชุมชนคลองเตย คงไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือต้องมีคำนำหน้าเป็น ดอกเตอร์ ก็บอกได้ทันทีว่า ความใกล้ชิดระดับนี้ พร้อมเสมอที่จะเปลี่ยนคนให้เป็นพาหะและส่งต่อโรคภัยไปยังผู้อื่นได้อย่างไม่ยากเย็น
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมองไปยังทำเลของชุมชน ชุมชนคลองเตยยังมีพิกัดอยู่ ณ ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ติดกับตลาดขนาดใหญ่ที่กระจายสินค้าไปทั่วทั้งเมืองอย่าง ตลาดคลองเตย ขนาบด้วยแลนด์มาร์คสำคัญอย่างท่าเรือคลองเตย และเป็นทั้งจุดตัดและจุดเชื่อมระหว่างแหล่งธุรกิจสำคัญไม่ว่าจะทองหล่อ อโศก สาทร สีลม
ทำไมชุมชนคลองเตยถึงอยู่ใจกลางเมือง? หรือถามให้ชัดกว่านั้น ทำไมคนถึงเลือกอยู่ในชุมชนคลองเตยที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง? ทำไมไม่ย้ายไปยังโครงการที่อยู่อาศัยซึ่งรัฐจัดหาไว้ให้? คำตอบคือ ‘เขาเลือกไม่ได้’
ผู้ที่อยู่ในชุมชนคลองเตยไม่ได้ต่างไปจากชุมชนแออัดอื่นๆ ที่ต้องอยู่ในชุมชนเพราะอยู่ใกล้แหล่งงานและที่ทำงาน โครงการที่พักอาศัยของรัฐอย่างโครงการของการเคหะแห่งชาตินั้น มีที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากงานที่พวกเขาทำหรือจะทำมาก รวมถึงการที่วิถีชีวิตบนตึกสูงหรือแฟลตก็ขัดกับวิถีการประกอบอาชีพอย่างมาก กล่าวคือ คนกลุ่มนี้มักประกอบอาชีพในภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ต้องใช้บ้านเป็นที่ทำงานด้วย เช่น การต้องเตรียมอาหารไปขายก็ต้องใช้เตาถึง 5-6 เตา
อาชีพที่คนในชุมชนมักทำกันก็มีหลากหลาย ไล่ตั้งแต่แม่บ้านห้างสรรพสินค้าชั้นหรู วินมอเตอร์ไซค์ ผู้รักษาความปลอดภัย คนขับแท็กซี่ ไรเดอร์ส่งอาหาร ตลอดจนเป็นแรงงานอื่นๆ เท่าที่จะจินตนาการได้ อันนำไปสู่ความจริงที่ยากจะปฏิเสธว่า การที่คนเมืองกรุงสามารถกักตัวอยู่ในที่อยู่อาศัยของตัวเองได้ ส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้การกักตัวเกิดเป็นไปได้ คือการมีคนเหล่านี้คอยทำงาน ไม่ว่าจะส่งข้าวส่งน้ำ ดูแลบริเวณรอบที่พักให้มีความสะอาด รักษาความปลอดภัยให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน (ยิ่งเสียกว่าตำรวจ?) กล่าวอย่างง่ายว่า การ ‘หยุดเชื้อช่วยชาติ’ ที่รัฐบาลโปรโมทจะไม่มีทางเป็นไปได้เลยหากปราศจากแรงงานของคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้คอยรองรับอยู่ อาชีพที่มักถูกยกให้มีความสำคัญไม่ว่าจะสิบร้อยพันยัน (นายกฯ) รัฐมนตรี นักร้องนักแสดง ฯลฯ ก็ดูจะไม่มีความสลักสำคัญอะไรนักในแง่นี้
แต่การกระทำแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องการเป็นฮีโร่แต่อย่างใด (แม้ตามจริง จะเรียกเช่นนั้นก็ได้โดยไม่กระดากปาก) ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พวกเขาต้องออกมาวิ่งเต้นทำงานอำนวยความสะดวกและความสะอาดเช่นนี้ มาจากความสามารถในการกักตัวที่มีค่อนข้างน้อย ควบคู่ไปกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ที่จำเป็นต้องหารายได้เลี้ยงตนและครอบครัว ประกอบกับค่างวดไม่ว่าจะจากหนี้สินหรือค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่เฆี่ยนตีพวกเขาอยู่ด้านหลัง
แน่นอน เมื่อคนเหล่านี้เป็นผู้ที่คอยวิ่งเต้นทำธุระให้แก่มนุษย์ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจเพียงพอที่จะจ่ายค่าตอบแทนให้พวกเขาได้ ก็ทำให้ชีวิตของมนุษย์จำพวกนั้นไม่ถูกกระทบมากนัก เพราะยังมี ‘อะไหล่’ หรือเกลียวที่เข้ามาทดแทนความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันที่หายไป ทั้งนี้ ความหมายที่ซ่อนอยู่ในสถานการณ์ลักษณะนี้ คือ คนจำนวนหนึ่งกำลังจ้างให้คนอีกจำนวนหนึ่ง (ซึ่งเป็นคนจำนวนมาก) ไปเสี่ยงชีวิตแทนตน หรือหากจะพูดในแง่ของความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุด (worst case) นี่เป็นการจ้างคนอื่นให้ไป (รับความเสี่ยง) ตายแทนตน ไม่ต่างอะไรจากการจ้างให้ไปรบในสงครามแทนแต่อย่างใด
ในแง่นี้ เรื่องของคนจนจึงสัมพันธ์อย่างยิ่งกับสังคม สังคมไม่อาจอยู่อย่างปราศจากคนจน/คนทำงานเหล่านี้ได้ นี่คืองานสกปรกที่คนจำนวนมากจ้างให้พวกเขาไปทำ เพื่อที่จะทำให้มือตัวเองสะอาด พวกเขาคือคนที่ทำให้กลไกของปัจเจก ชุมชน สังคม และเมืองดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าจะในสภาวะปกติหรือสภาวะโรคระบาด ชีวิตที่ปกติ เศรษฐกิจที่ก้าวหน้า และเมืองที่เจริญเติบโต ล้วนเป็นไปไม่ได้หากปราศจากแรงงานจากคนจน
ประโยชน์ตกอยู่ที่ใด
กระนั้น สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนจนมักถูกลืมว่าเป็นคน และถูกมองข้ามหัวมาตลอด หากจะว่าแต่เฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย คนจนกว่า 3.5 ล้านครัวเรือน ไม่สามารถมีที่อยู่เป็นของตัวเองได้ โดยเฉพาะคนจนเมืองที่ต้องเช่าที่อยู่ราคาถูกและคุณภาพต่ำ ดังที่ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเล่าไว้ในบทความ ‘อย่าปล่อยให้คนเช่าบ้านถูกลืม’
“ชาวบ้านในชุมชนแออัดที่เคยเช่าห้องอยู่ เล่าให้ผมฟังว่า สมัยที่เคยเช่าห้องในบ้านไม้ที่เจ้าของบ้านแบ่งให้เช่า เจ้าของบ้านกั้นห้องแบ่งให้เช่า 10 ห้อง แต่มีห้องน้ำห้องเดียว คนที่ทำงานเข้างานตอนเช้าจะต้องตื่นมารอคิวเข้าห้องน้ำกันตั้งแต่ตีห้า นี่คือคุณภาพชีวิตของผู้เช่าห้องราคาถูกอยู่อาศัย”
ครั้นมองไปที่นโยบายหรือมาตรการของรัฐ จะเห็นว่าพวกเขาถูก ‘ทิ้งในทิ้ง’ เสมอ โครงการที่ชูเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน/ที่อยู่อาศัยของรัฐล้วนประสบความล้มเหลวเสมอมาตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 20 ปี และอาจต่อขยายไปไกลถึง พ.ศ. 2579 ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี ของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวได้ว่า โครงการ นโยบาย มาตรการ หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ตามแต่จะเรียก แท้จริงแล้วล้วนแต่เป็นตัว ‘ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำ’ ให้รุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก
โครงการที่มีชื่อสวยหรูเหล่านี้ไม่เคยเป็นเรื่องสวยงามสำหรับคนจน ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเป็นสิ่งที่ถูกเพิกเฉย และหากจะให้ถูกต้องก็ต้องกล่าวว่า แรงงานคนจนเป็นกลุ่มคนที่ถูกเพิกเฉยและมองข้ามเสมอมา ทั้งในระดับภาครัฐและสื่อมวลชน ดังที่บุญเลิศเล่าถึงประสบการณ์ของตนว่า
“การชุมนุมของคนสลัมนับพันคนยังได้รับความสนใจจากสื่อน้อยกว่าการรวมตัวของคนไร้บ้านไม่กี่สิบคน”
อันที่จริงโครงการที่ขึ้นชื่อว่าทำเพื่อคนจนก็ไม่เคยเป็นการทำเพื่อคนจนจริงๆ หากเป็นการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยเป็นสินค้า และเอื้อประโยชน์แก่การเก็งกำไรของธุรกิจเอกชน การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการจับจ่ายของชนชั้นกลาง ที่พอจะมีรายงานการเดินบัญชี (statement) อันแสดงถึงกำลังผ่อนค่างวดเสียมากกว่า บทบาทของคนจนในโครงการเหล่านี้ ดูจะมีเพียงการรอวันถูกไล่ที่เพียงเท่านั้น
ทั้งหมดนี้คือความเหลื่อมล้ำในรูปของสภาวะปกติ ซึ่งมีก่อนการเข้ามาของโควิด-19 อยู่นานแล้ว ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่สิ่งที่ซ่อนรูปอยู่ในสภาวะปกติแต่อย่างใด ตรงกันข้าม มันเปิดเผยอย่างโจ่งแจ้งจนแทบทิ่มลูกตา ที่น่าแปลกคือ มันกลับถูกปฏิบัติราวกับว่าไม่เคยอยู่ในสายตา ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติจนไม่ผิดที่จะแสดงอาการเพิกเฉย
การเกิดขึ้นของโควิด-19 จึงไม่ใช่ต้นตอหรือสาเหตุของปัญหาความเหลื่อมล้ำ กลับกัน มันเป็นเพียงตัวเร่งปฏิกิริยา เป็นเพียงการปะทุขึ้นมาของแมกมาใต้ภูเขาไฟที่ยังไม่ดับและพร้อมระเบิดอยู่แต่เดิมแล้ว มันเป็นเรื่องเหนือจริงที่ทำให้ภาพความจริงชัดขึ้น เป็นเรื่องเหนือปกติที่กระชากหน้ากากของความปกติธรรมดาจนขาดวิ่น
อันที่จริง หากมองว่าโควิด-19 เป็นภัยพิบัติธรรมชาติ ชุมชนคนจนก็เป็นที่รองรับภัยพิบัติมาเสมอ ชัดที่สุดผ่านการถูกน้ำท่วม ซึ่งสุดท้ายคนจนถูกปล่อยไว้ตามยถากรรมจนต้องอยู่กับมันราวกับเป็นเรื่องธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี ในกรณีของเมืองหรือที่อยู่อาศัย การนำภัยพิบัติธรรมชาติแทนค่าเทียบเท่ากับความเหลื่อมล้ำก็อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะเมื่อเมืองเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (หากบอกว่าเมืองเกิดขึ้นในทำนองเดียวกับที่สายฟ้าฟาดเกิดกลางพายุฟ้าฝน หรือพืชพรรณถือวิสาสะผุดขึ้นจากดินตามฤดูกาล ก็คงเป็นอีกครั้งที่ ‘แรงงาน’ ผู้วางอิฐบล็อกต่อบล็อก ขันน็อตตัวต่อตัว ถูกเมินค่า) ตามนัยยะนี้ ความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำในที่อยู่อาศัยก็ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ หากเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเช่นกัน
ทางออกคือทางที่ยังไม่เคยไป
เมื่อเมืองเป็นสิ่งที่ถูกสร้างได้ ออกแบบได้ ก็ย่อมถูกดัดแปลงแก้ไขได้ การตระหนักถึงสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง (The Right to the City) จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
เบื้องต้น แม้สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง จะไม่ได้มีความหมายต่างไปจากสิทธิประเภทอื่นๆ เท่าไรนัก กล่าวคือ เป็นความชอบธรรมอันพึงมีพึงได้ของประธานแห่งสิทธิ เป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้คนสามารถกำหนดและออกแบบชะตาชีวิตตนเองได้ ในแง่นี้ สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง คือการสามารถร่วมตัดสินใจความเป็นไปหรือรูปร่างหน้าตาของเมืองได้ โดยสิทธินี้จำเป็นต้องได้รับการเคารพจากรัฐ รัฐไม่สามารถเข้ามาช่วงชิงหรือละเมิดสิทธินี้ไปได้ (แต่เรื่องนี้คงจะเป็นเรื่องประหลาดหรือผิดปกติ สำหรับรัฐที่นำการละเมิดสิทธิมารวมไว้ใน ‘สภาวะปกติ’)
สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง เป็นเรื่องที่ว่าด้วยอนาคตที่สัมพันธ์กับปัจจุบัน เป็นการเปิดโอกาสให้มนุษย์ทุกคนได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ปลอดภัย และถูกสุขอนามัย ในแง่นี้ สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมืองจึงเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำลายสภาวะอันเป็นพิษในช่วงเวลาปกติ มันคือการทำลายเงื่อนไขความเสี่ยงดั้งเดิมที่จะนำพาสังคมไปสู่ความป่วยไข้
อย่างไรก็ตาม หากที่อยู่อาศัยยังคงถูกคิดบนฐานของการเป็นสินค้าและถูกจัดการตามกลไกตลาด หรือคิดในกรอบตัวเลขกำไรขาดทุน ดังที่เป็นอยู่เดิม ย่อมเป็นการปล่อยให้สิ่งที่ไม่ควรถูกเรียกว่าปกติดำเนินต่อไป เป็นการบอกว่าชีวิตที่แย่และชีวิตที่ดี ความจนและความรวยเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ เช่นนั้น ทุกอย่างก็คงไม่ต่างจากตอนจบของนวนิยาย Of Mice and Men สักเท่าไร ที่สุดท้ายแล้ว มนุษย์ไม่ได้ต่างอะไรกับหมาแก่ไร้ประโยชน์ ต้องถูกมือที่มองไม่เห็นนำปืนจ่อท้ายทอย ขณะกำลังติดอยู่ในห้วงภวังค์ฝัน ที่ถูกเจ้าของมือที่มองไม่เห็นสั่งให้พร่ำเพ้อจินตนาการถึง เพื่อจะได้ลั่นไกระเบิดกบาลให้เหลวแหลก
หากยังคงยืนยันว่าทั้งหมดนี้คือสภาวะปกติที่ต้องการกลับไป นั่นหมายความว่า ความตายต่างหากที่เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของขบวนรถไฟ…หัวกระสุน
อ้างอิง
- We shouldn’t go back to “normal.” Normal wasn’t good enough.
- โควิด-19 ในคลองเตย: เมื่อรัฐขยับตัวช้าเกินไป
- ผ่ายุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี: ฝันใหญ่ แต่ไม่สรุปบทเรียน
- บ้านเรือน: มุมมองทางสังคมที่ถูกบดบัง
- เรื่องบ้าน เรื่องเรือน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว
- ความอุกอาจของโครงการอุดหนุนเงินดาวน์บ้าน 50,000 บาท
- เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องที่อยู่อาศัย
- มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เพื่อใคร?
- จ่าทหารโคราช บ้านพักนายพล บ้านเช่ายายแมว ความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย
- ไม่มีเขาไม่มีเรา ในวิกฤติโควิด-19
- อย่าปล่อยให้คนเช่าบ้านถูกลืม
- สิทธิในที่อยู่อาศัย: ขยับเพดานว่าด้วยสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
- มองมุมใหม่ ที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิ ไม่ใช่สินค้า
- ถอดโมเดลที่อยู่อาศัยที่รัฐอุดหนุน (Public Housing) ในสิงคโปร์
- แบ่งปันที่ดินรถไฟเพื่อที่อยู่อาศัยคนจน
- สิทธิในเมือง สิทธิในที่อยู่อาศัย
- จากหอพักแรงงานข้ามชาติ สลัม เรือนจำ และก่อนโควิด-19 จะถึงคนไร้บ้าน