มองย้อนไป 365 วันที่ผ่านมา มีเรื่องราวเกิดนับพัน หลายเหตุการณ์ WAY หยิบมาย่อยและเผยแพร่ ทั้งข่าว รายงาน สัมภาษณ์ และสกู๊ปที่อัดแน่นไปด้วยประเด็นและข้อมูล กระทั่งงานท่องเที่ยว บันเทิงร่วมสมัย
เนื่องจากเนื้อหาที่นำเสนอผ่านเว็บไซต์ waymagazine.org และหน้าเพจ waymagazine มีมาก แถมพี่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ยังชอบเล่นกลกับอัลกอริธึมแปลกๆ… ถ้าจะหา ‘ของดี’ อาจใช้เวลากลิ้งเมาส์หลายนาที
ของดีบางชิ้นไม่เกี่ยวข้องกับความป๊อปปูลาร์ แต่เป็นการงานอันเป็นที่รัก และเกี่ยวข้องโดยตรงกับความภาคภูมิในวิชาชีพ
เราเริ่มต้นด้วยการให้ทุกคนเสนอชิ้นงานที่ชอบในรอบ 1 ปีโดยไม่จำกัดจำนวน แต่ควรเป็นชิ้นงานที่ผลิตโดยกองบรรณาธิการ จากนั้นเอามากองรวมกันเพื่อคัดให้เหลือ 10 ชิ้น
บรรยากาศขั้นตอนคัดเลือกอบอวลด้วยความเป็นประชาธิปไตย (แม้จะมีความพยายามแทรกแซงเป็นระยะ ทั้งล็อบบี้ด้วยสายตา วิงวอนหว่านล้อมด้วยวาจา รวมถึงข่มขู่กรรโชกโดยใช้ความเยาว์วัยเป็นตัวประกัน) แต่ประชาธิปไตยคือการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย กองบรรณาธิการมี 1 เสียงเท่ากัน
และนี่คือ 10 งานเขียนที่กองบรรณาธิการ คัดเลือก โหวต ดีเบต และนำเสนอ
01 ข้อเขียนชุด ‘พลาดหัวข่าว’
หากอ่านจากชื่อซีรีส์ ‘พลาดหัวข่าว’ เราสามารถอ่านความหมายของชื่อข้อเขียนชุดนี้ได้อย่างน้อยสองความหมาย ความหมายแรก พลาดหัวข่าว อาจหมายถึง ‘ผลกระทบของเด็กที่ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่ง’ ซึ่งเป็นหัวข้องานวิจัยที่ข้อเขียนชุดนี้ใช้อ้างอิง ความหมายที่สอง อาจหมายถึง ความผิดพลาดในชีวิตของเด็กคนหนึ่ง
ข้อเขียนชุดนี้ผลิใบต่อยอดมาจากงานคลิปสารคดีของ WAY Documentary หรืออาจจะพูดได้ว่า ข้อเขียนชุดนี้เป็นจุดตั้งต้นของงานคลิปสารคดีของ WAY ได้เช่นกัน เพราะรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลายของ WAY เป็นผลจากความพยายามที่จะใช้เครื่องมือในการเล่าเรื่องที่หลากหลายมากขึ้นของกองบรรณาธิการ เพื่อให้เหมาะสมกับมุมมองในการเล่าเรื่อง
ณิชากร ศรีเพชรดี กองบรรณาธิการตัวจี๊ดของ WAY เข้าไปสำรวจชีวิตในบ้านกาญจนาฯ ชีวิตหลังความผิดพลาดของเด็กและเยาวชน การให้อภัยตนเองและได้รับการอภัย เชื่อมโยงกับบทบาทของสื่อมวลชน และผลกระทบของข่าวต่อชีวิตผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ
อ่านข้อเขียนชุด พลาดหัวข่าว:
https://waymagazine.org/front-page1/
https://waymagazine.org/front-page2/
https://waymagazine.org/front_page3/
https://waymagazine.org/children-rights-in-justice-systems/
02 นิทรรศรัฐประหาร
ในวาระครบรอบ 11 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2560 บนโต๊ะประชุมของกองบรรณาธิการ WAY ต้องการสื่อสารและส่งข้อความเนื่องในวาระโอกาสนี้ ที่ประชุมตกผลึกว่า เราจะผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบ creative writer เนื้อหาและหีบห่องานนี้จึงออกมาในรูปแบบการจัดนิทรรศการ กองบรรณาธิการแต่ละคนทำหน้าที่ประหนึ่งคิวเรเตอร์ คัดเลือกสิ่งของและความทรงจำที่แวดล้อมการรัฐประหารสองครั้งหลังสุด ทั้งวันที่ 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557
กราฟิกดีไซเนอร์ของเราก็จัดเต็ม จนเมื่อเผยแพร่คอนเทนต์นี้ออกไป ผู้อ่านหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า นิทรรศรัฐประหาร คือนิทรรศการที่จัดขึ้นจริง หลายคนถามเข้ามาว่า “จัดแสดงที่ไหน” “จัดเมื่อไหร่” ลำบากทางกองบรรณาธิการที่ต้องสื่อสารข้อเท็จจริงกับผู้อ่าน
มีเพียงกระหยิ่มยิ้มย่องจาก ณขวัญ ศรีอรุโณทัย อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้ดูแลด้านความงามของ WAY ที่เป็นรอยแสดงถึงการออกัสซัมทางศิลปะในงานชิ้นนี้ของเขา
เชิญชม นิทรรศรัฐประหาร
03 ขุดมายาคติ 2475
ถ้ายังจำกันได้ ข่าวการถอนหมุด ‘ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’ หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘หมุดคณะราษฎร’ แทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ประเด็นหมุดคณะราษฎรย่อมเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกจากอุดมการณ์ ชุดความคิด และการตีความ การปฏิวัติ 2475 ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการศึกษา อ่าน ตีความ ปกปัก และแซะ
ขุดมายาคติ 2475 เป็นข้อเขียนที่พยายามนำประเด็นที่มีการถกเถียงและตีความแตกต่าง มาชั่ง วัด และตวง ด้วยข้อมูลและงานศึกษาทางวิชาการ
อ่าน: https://waymagazine.org/2475_myths/
04 ยังไม่ลืม พฤษภา ’53 ประเทศนี้มีคนตาย
อินโฟกราฟิกชิ้นนี้ถูกออกแบบอย่างเรียบง่าย เนื้อหาในงานชิ้นนี้คือรายชื่อผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53 ซึ่งเป็นข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.)
งานออกแบบที่เรียบง่ายจัดเรียงรายชื่อผู้เสียชีวิต กลับส่งผลทางความรู้สึกอย่างรุนแรง ยิ่งเมื่อเรามองจากจุดนี้ จุดที่ความยุติธรรมยังมีเครื่องหมายคำถามห้อยท้าย
ยังไม่ลืม พฤษภา ’53 ประเทศนี้มีคนตาย
อ่าน: https://waymagazine.org/19_may_2553_memo/
05 รธน. ฉบับไหน ซ่อนในสำนึกคุณ
เมื่อ WAY คิดอยากนำเสนออุดมการณ์ที่ซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ โดยเล่าผ่านรูปแบบ Quiz Game มันจะเป็นไปได้อย่างไร
หลักคิดของเราก็คือว่า รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับของไทย ล้วนสะท้อนลักษณะเฉพาะของแต่ละยุคได้เป็นอย่างดี ขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของผู้เขียนและเงื่อนไขทางสังคมในเวลานั้น Quiz Game นี้จึงสร้างการเปรียบเทียบว่า คาแรคเตอร์เฉพาะของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับของไทยเป็นอย่างไร และเพื่อความครื้นเครง Quiz Game จึงพยายามออกแบบตัวเลือกที่บ่งบอกลักษณะนิสัยใจคอของเราๆ ท่านๆ เพื่อเชื่อมโยงไปยังเนื้อหาในรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ
ฟังดูซับซ้อน แต่ลองเล่นกันรึยัง
อ่าน: https://waymagazine.org/constitution_style/
06 เวียน ว่าย ไม่ตาย ไม่เกิด: 340 ปี ผีคลองไทย มหากาพย์หลอนภาคใต้
ข้อเขียนชิ้นนี้ทำท่าเหมือนจะเป็นนิทาน แต่เป็นนิทานประวัติศาสตร์โครงการการขุดคลองเชื่อมอ่าวไทยสู่ทะเลอันดามัน ชื่อที่คุ้นหูคนหลายต่อหลายรุ่นก็คือ ‘คอคอดกระ’
ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ถูกร่ายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2336 ในสมัยรัชกาลที่ 1 จนกระทั่งถึงยุค คสช. กินเวลา 340 ปี เป็นเวลา 340 ปีที่ทำให้มองเห็นความพยายามของผู้มีอำนาจดำเนินนโยบาย แต่โครงการขุดคอคอดกระก็ต้องสะดุดหยุดลงด้วยปัจจัยภายในและภายนอกอยู่ร่ำไป
โกวิท โพธิสาร ผู้ถูกบรรณาธิการรุ่นใหญ่ท่านหนึ่งเปรียบเปรยว่าเป็น ‘งัวงานแห่ง WAY’ ได้สำรวจ 340 ปีที่ว่าและความคิดเห็นของคนในพื้นที่ แน่ละว่ามีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สิ่งที่น่าสนใจก็คือความคิดเห็นในฝั่งผู้เห็นด้วย บางความเห็นหวังพึ่งพาอำนาจพิเศษอย่างคำสั่งหัวหน้า คสช. หมายเลข 44
นี่คือปฐมบท 340 ปี โครงการขุดคอคอดกระ
อ่าน: https://waymagazine.org/340-years-thai-canal/
07 World War I: รักระหว่างรบ
ข้อเขียนชิ้นนี้ เชื่อมโยงสามสิ่งเข้าไว้ด้วยกัน หนึ่ง-ความรัก, สอง-สงครามโลกครั้งที่ 1, สาม-สิทธิมนุษยชน
ความรักที่เกิดขึ้นระหว่างรบเคยเป็นเรื่องผิดบาป เมื่อเป็นความรักระหว่างชายกับชาย การถูกตราหน้าว่าเป็นพวกโฮโมเซ็กชวลในเยอรมนี จึงไม่ต่างอะไรกับนักโทษชั้นเลว พวกเขาถูกสังคมประณาม ขับไล่ออกจากหมู่บ้าน เสี่ยงที่จะโดนทำร้าย บางครั้งถึงขั้นต้องฆ่าให้ตาย
จดหมายเป็นพื้นที่เดียวที่ทำให้เขาได้ส่งข้อความถึงคนรัก
จากจดหมาย (ลับ) รักหลายร้อยฉบับ มันได้กลายเป็นการเรียกร้องสิทธิ LGBT ขยายเป็นหลักการพื้นฐานอย่างทุกวันนี้ นั่นก็คือการตระหนักถึงสิทธิการเป็นพลเมืองเต็มรูปแบบไม่ว่าพวกเขาจะมีเพศวิถีอย่างไร
อ่าน: https://waymagazine.org/ww1-gay-rights/
08 ดาร์คไซด์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้
นี่คือความสนใจของกองบรรณาธิการสาวสายเกาฯ ผู้มีความสามารถนั่งหน้าจอซีรีส์เกาหลีได้อย่างทรหดอดทน แต่ความสนใจของ ชลิตา สุนันทาภรณ์ ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เธอยังสนใจประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นความสนใจหลักของเธอ เมื่อนำสิ่งที่สนใจสองอย่างมารวมกัน ข้อเขียนเชิงวิเคราะห์อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีที่มีการเมืองเป็นตัวละครหนึ่ง จึงเกิดขึ้น
อ่าน: https://waymagazine.org/political_turmoil_kr_film_industry/
09 แถวตรง! ข้อสังเกตต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร 2476 เขาเขียนอะไรไว้ในนั้น
ข่าวการเสียชีวิตของ นักเรียนเตรียมทหารภคพงศ์ ตัญกาญจน์ ทำให้สังคมตั้งคำถามต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘วินัยทหาร’ และ ‘ความโปร่งใสและตรวจสอบได้’ คำถามและข้อเรียกร้องเหล่านี้ถูกตีกลับออกมาจากดินแดนสนธยา
โกวิท โพธิสาร บรรณาธิการข่าวผู้มีวินัยดุจทหาร ค้นหาว่า เขาเขียนเรื่อง ‘วินัย’ ไว้อย่างไรใน พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร ซึ่งเมื่อค้นเจอเขาก็ร้องกรี๊ดออกมา เมื่อพบว่ามันถูกเขียนตั้งแต่ปี 2476
อ่าน: https://waymagazine.org/thailand-military-discipline-law/
10 สปิติ แม่น้ำสีใจ
กลางปี 2017 กองบรรณาธิการ WAY จำนวนหนึ่ง ร่วมผจญภัยไปกับกลุ่มนักปั่นทัวร์ริ่งมหาป่วนกวนโอ๊ย ไปบนเส้นทางหุบเขาสปิติ (Spiti valley) เลาะเลียบตะเข็บชายแดนรัฐหิมาจัลประเทศ อินเดียเหนือ กับแอ่งอารยธรรมทิเบต ประเทศจีน ถนนที่ได้ชื่อว่าหฤโหดและเสี่ยงตายที่สุดเส้นหนึ่งในโลก
บนความสูงเฉียด 5,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล อากาศแห้ง หนาวเหน็บ ออกซิเจนเบาบาง แต่นักประพันธ์หนุ่ม วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ และช่างภาพอาวุโส อนุชิต นิ่มตลุง ประจงเก็บฉากเหตุการณ์อย่างอบอุ่นละเมียด ขับดันถ่ายทอดออกมาผ่านแรงบันดาลใจอันทะเยอทะยานพลุ่งพล่าน
นี่คืองานเขียนสารคดีที่นักเขียนหนุ่มสาวด้วยกันกล่าวถึงด้วยเสียงชื่นชม สมราคาผู้อุปโลกน์ตนเป็นนักประพันธ์หนุ่มและคอนเทนต์ เมคเกอร์ ผู้ทำงานด้วยอารมณ์ศิลปิน
ศิลปินถึงขั้น ณ วันนี้ ยังไม่มีตอนจบ!
อ่านพลางๆ ระหว่างรอตอนจบ ได้ที่นี่:
https://waymagazine.org/spiti-valley1/
https://waymagazine.org/spiti-valley2/
https://aymagazine.org/spiti-valley-3/
https://waymagazine.org/spiti-valley-4/
https://waymagazine.org/spiti-valley5/